กรมอนามัย จับมือ WHO – ยูนิเซฟ – มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เสริมพลังนมแม่ แนะ เทคนิค 3 ดูดให้คุณค่านมแม่ครบถ้วน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนวันแม่แห่งชาติและสัปดาห์นมแม่โลก ภายใต้แนวคิด “Empower Parents Enable Breastfeeding เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน” เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

วันที่ 5 สิงหาคม 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนวันแม่แห่งชาติและสัปดาห์นมแม่โลก ภายใต้แนวคิด “Empower Parents Enable Breastfeeding เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1  ชั้น 1 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย  Multi-indicator cluster survey ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2559 พบว่ามีทารกไทยเพียงร้อยละ 40 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และเพียงร้อยละ 23  ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และมีทารกเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี  โดยภายในปี 2568 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายให้อัตราการกินนมแม่อย่างเดียวของทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยร้อยละ 50 สอดคล้องกับเป้าหมายโลกที่ทุกประเทศตั้งไว้ร่วมกันเมื่อปี 2555

“ทั้งนี้ นมแม่เป็นอาหารที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กเพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีคุณค่าเหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็ก และมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น ซึ่งควรให้ลูกดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน เทคนิคสำคัญ คือ 3 ดูด ได้แก่ 1) ดูดเร็ว ให้ลูกดูดนมทันทีหลังคลอด ภายใน 1 ชั่วโมง   2) ดูดบ่อย ให้ลูกดูดนมอย่างน้อยทุก 2-3 ชั่วโมง 3) ดูดถูกวิธี ให้ลูกดูดนมจากอกแม่อย่างถูกวิธี และในแต่ละครั้งควรให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมใหม่ของคุณแม่ให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกน้อยอีกด้วย” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกปีนี้ กรมอนามัยขอเน้นย้ำให้ทุกคนในสังคมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่ได้สำเร็จ ด้วยการร่วมมือกันสนับสนุนสิทธิสตรีทำหน้าที่แม่ โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบด้านให้เป็นมิตรกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1) การปกป้อง สิทธิและสุขภาพของเด็กทุกคนไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ ซึงปัจจุบันมีพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ควบคุมกำกับ 2) การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยให้แม่มีความรู้ ทัศนคติและความตั้งใจที่จะให้นมลูก และพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ได้ตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก    รวมทั้งพัฒนาศักยภาพพยาบาลนมแม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับหญิงตั้งครรภ์และให้นมลูก 3) การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัจจุบันผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน เราพบว่าเหตุผลหลักข้อหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย กรมอนามัยจึงมีการขับเคลื่อนโครงการนำร่องเพื่อช่วยสนับสนุนการขนส่งนมแม่ข้ามจังหวัดสำหรับแม่ทำงานโดยได้นำร่องในเขตสุขภาพที่ 7 จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจสายการบินและรถโดยสารประจำทาง ทำให้การขนส่งนมของคุณแม่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน นายฮิว เดลานี รักษาการผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟแนะนำให้เด็ก ทุกคนกินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดและมีภูมิคุ้มกัน  แต่ปัจจุบัน มีเด็กในประเทศไทยเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนครบ 6 เดือน ซึ่งอาจมีผลมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ค่านิยมที่มักให้อาหารกึ่งเหลวกับเด็กทารกก่อน 6 เดือน หรือพ่อแม่บางคนยังมีความเข้าใจผิดว่าลูกหิวน้ำ หรือต้องการล้างปากเด็ก คุณแม่บางท่านอาจกังวลเรื่องคุณภาพนมของตนหรือคิดว่านมไม่พอ นอกจากนี้ คุณแม่จำนวนมากยังขาดแรงสนับสนุนจากที่ทำงานเรื่องการให้สิทธิการลา หรือเมื่อกลับไปทำงานแล้ว  ที่ทำงานก็ไม่มีพื้นที่เหมาะสมให้แม่บีบเก็บน้ำนมได้

“เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกปีนี้ ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้สถานประกอบการช่วยกันสนับสนุน “นมแม่” โดยจัดให้มีนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว (Family Friendly policies) เช่น การส่งเสริมนโยบายการลาคลอดของพ่อและแม่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อช่วยลดภาระครอบครัวที่มีลูกเล็ก การสร้างมุมหรือห้องนมแม่ ตลอดจนนโยบายที่ให้แม่สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ระหว่างเวลาทำงาน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พนักงานที่มีลูกสามารถดูแลครอบครัวได้ดีขึ้นและสร้างสมดุลในชีวิตในช่วงที่ลูกยังเล็ก เพราะหากแม่ขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัวและที่ทำงานแล้ว แม่ก็จะ  ขาดพลังและกำลังใจและหยุดให้นมลูกในที่สุด” นายเดลานี กล่าว

Dr Renu Garg, Medical Officer องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารก และประโยชน์ของนมแม่นั้นมีต่อเนื่องไปตลอดชีวิต การเสริมพลังพ่อแม่ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้น รัฐบาลควรพิจารณาดำเนินนโยบายที่ช่วยสนับสนุนครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การให้สิทธิลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับค่าจ้างเพื่อช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูและผูกพันกับเด็กในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด

แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์   นมแม่ฯที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการเสริมพลังให้กับแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้การช่วยเหลือดูแล ในกรณีที่แม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จวบจนแม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ มีการจัดตั้งกลุ่มอาสา โดยการนำคุณแม่ที่ประสบความสำเร็จที่มีจิตอาสา มาเป็นที่ปรึกษา ช่วยเหลือคุณแม่ที่ประสบปัญหา ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดย“แม่ช่วยแม่” และอีกช่องทางหนึ่ง คือ ทางมูลนิธิฯ มีเว็ปไซต์เพื่อการสื่อสารข้อมูลวิชาการต่าง ๆ   ให้สำหรับคุณแม่ที่สนใจหรือมีปัญหา ข้อสงสัย สามารถเข้ามาเยี่ยมชม หาความรู้ได้ หรือตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอีกหนึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิฯ ดำเนินการคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน องค์กรอิสระ เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้แม่ทำงานที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนประสบความสำเร็จ

 

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 5 สิงหาคม 2562