สทนช. ลุยแก้ปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ.พิจิตร

สทนช. เร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงสูงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.พิจิตร ในระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน พร้อมเสนอแนวทางเตรียมความพร้อมเชิงป้องกันในระยะยาวอย่างยั่งยืน

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 นายอนันต์ เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 (สทนช. ภาค 1) เปิดเผยว่า สทนช. ภาค 1 ได้ติดตามสถานการณ์เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 ในเขต ต.บ้านนา ต.บึงบัว อ.วชิรบารมี และ ต.หนองโสน อ.สามง่าม จ.พิจิตร เพื่อเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ตามที่ได้รับมอบหมายจาก ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. โดยจากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้านการอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีเพียงแหล่งน้ำใต้ดินเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ส่งผลให้ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. ของทุกปี มักจะประสบปัญหาปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอในการผลิตประปาสำหรับแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ระบบประปาเดิมยังมีสภาพชำรุดและไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการเตรียมความพร้อมป้องกันและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในระยะสั้น โดยได้จัดเตรียมรถบรรทุกสำหรับแจกจ่ายน้ำ พร้อมดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 รวมทั้งแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เช่น โครงการปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน โครงการระบบผลิตน้ำประปาขนาดใหญ่ เป็นต้น รวมถึงโครงการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำแผนขอรับสนับสนุนติดตั้งระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บริเวณบึงเฒ่า โดยกรมพลังงานทดแทน เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ดังกล่าว

พร้อมกันนี้ สทนช. ได้เสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อมเชิงป้องกันในระยะยาว และการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในการใช้อุปโภคบริโภค ได้แก่ 1. สำรวจและจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเจาะบ่อบาดาล สำหรับนำน้ำใต้ดินมาใช้ในการผลิตน้ำอุปโภคบริโภค โดยประสานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 2. ขุดลอกคลอง แก้มลิง และหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการขุดเป็นสระน้ำสาธารณประโยชน์เพื่อกักเก็บและหน่วงน้ำในช่วงฤดูฝนไว้สำหรับเป็นแหล่งน้ำผลิตอุปโภคบริโภค 3. จัดหาพื้นที่สาธารณประโยชน์ในการทำสะดือน้ำเพื่อเติมน้ำลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการเสี่ยงขาดแคลนน้ำและเป็นการป้องกันการพังทลายของแหล่งน้ำใต้ดิน 4. เป่าล้างบ่อแหล่งน้ำใต้ดินที่นำมาผลิตน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อขจัดตะกอนและสิ่งตกค้าง 5. สำรวจ จัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น และระยะกลาง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน เพื่อขอรับการสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง หรืองบประมาณเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยทั้งจากภัยแล้งและอุทกภัยให้ถูกต้องตามระเบียบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6. จัดประชุมหารือพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากการใช้น้ำร่วมกันทั้งด้านอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและบูรการเชิงป้องกัน รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานในระดับพื้นที่ร่วมแก้ไขปัญหา ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ

“สทนช. ภาค 1 จะมีการติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จ.พิจิตร พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดตลอดฤดูแล้งนี้ ควบคู่กับการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป” นายอนันต์ กล่าว