ปภ.กำชับศูนย์ ปภ.เขต และจังหวัดเสี่ยงภัยรับมือภาวะฝนตกหนักจากพายุ “วิภา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ย้ำปฏิบัติการเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชน 

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กำชับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและรับมือฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “วิภา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ในช่วงวันที่ 2 – 6 ส.ค. 62 โดยให้ศูนย์ ปภ.เขต ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าพายุโซนร้อน “วิภา” จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช่วงวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2562 มรสุมตะวันออกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร  บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เน้นย้ำให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย แยกเป็นภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์   ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม รวมถึงคลื่นลมแรงโดยกำชับให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที นอกจากนี้ ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการห้ามเดินเรือขนาดเล็ก รวมถึงให้ผู้ควบคุมเรือตรวจสอบความพร้อมของตัวเรือ เครื่องยนต์ จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป