กรมชลฯ เตรียมพร้อมรับมืออิทธิพล พายุดีเปรสชัน ส่งผลตอนบนของไทยฝนตกหนัก

กรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ เตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ ระบบอาคารชลประทาน ให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที หากได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชัน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 1สิงหาคม 2562 พายุโซนร้อน “วิภา” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 พายุจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ นั้น

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบัน(1 ส.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 33,887 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 10,374 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 37,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,741 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,045 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 17,000 ล้าน ลบ.ม. ด้านสถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ อาทิ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ยังคงมีปริมาณน้ำน้อย

“หากปริมาณฝนที่ตกลงมาอยู่ในพื้นที่บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ จะช่วยเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำได้และยังเพิ่มระดับน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือนร้อนจากสถานการณ์ฝนที่ตกน้อยในระยะนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลา พร้อมทั้งร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ที่สำคัญได้กำชับให้เตรียมพร้อมทางด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ประจำไว้ตามจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเข้าไปปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย”

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน

1 สิงหาคม 2562