คณะชมรมโขนเยาวชนชายแดนใต้ เข้าพบ รมว.วัฒนธรรม ผลักดันเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา เปิดโอกาสเรียนรู้ “โขน” ศิลปะชั้นสูงของไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา นำคณะชมรมโขนเยาวชนชายแดนใต้ เข้าพบนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา นางยุพิน แมคคลาวด์ ผู้อุปการะชมรมโขนเยาวชนชายแดนใต้ นายนนทวัชร์ คงเหมาะ คงเหมาะ ประธานชมรมโขนเยาวชนชายแดนใต้ นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม คณะครูอาจารย์ พร้อมนักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา จำนวน 13 โรงเรียน เข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม ในโอกาสนี้ คณะชมรมโขนเยาวชนชายแดนใต้ ได้นำเสนอวีดิทัศน์ผลงานและกิจกรรมการส่งเสริมผลักดันเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลา ให้เรียนรู้และฝึกฝนการแสดงโขน พร้อมหารือถึงการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรมในโอกาสต่อไป

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รับฟังและพร้อมสนับสนุนให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยจะให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการให้การสนับสนุนในด้านที่เกี่ยวข้อง พร้อมผลักดันให้เด็กๆเยาวชนได้เรียนรู้และขับเคลื่อนศิลปะขั้นสูงของไทย “โขน” ซึ่งยูเนสโก (UNESCO) ประกาศรับรองให้ โขนไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมวลมนุษยชาติ ปี 2561 ที่ควรอนุรักษ์และสืบสานต่อไป นอกจากนี้ “โขน” นับเป็นอีก 1 ใน Soft Power ของไทยที่รัฐบาลผลักดัน ให้ความสำคัญ และสนับสนุนต่อยอดให้เกิดเวทีแสดงงานศิลปะการแสดงด้านวัฒนธรรมในเวทีนานาชาติอีกด้วย

สำหรับ “กลุ่มเยาวชนโขนปัตตานี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 จากการสนับสนุนโดยนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ที่ได้มีโอกาสดูการแสดงของกลุ่มนักเรียนที่มีความสนใจและได้รับโอกาสในการฝึกซ้อมโขนจากคุณครูโรงเรียนบ้านสะบารัง เกิดความประทับใจ สนใจ และติดตามผลงานของคณะนักเรียนกลุ่มนี้ ตลอดจนเพื่อดำเนินตามพระมหากรุณาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชเสาวนีย์ ให้มีการจัดแสดงโขน เพื่อเป็นการฟื้นฟูงานฝีมือช่างหลากหลายสาขา การแต่งหน้าแบบโบราณ รวมถึงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทย “โขน” เป็นการแสดงที่สอดแทรกคุณธรรมและเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่บ่งบอก ถึงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย เป็นต้นแบบของวิธีการที่จะรวมงานด้านศิลปะหลายชนิดเข้าด้วยกันอย่างมีเอกภาพทำให้โขนเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์และความเป็นเอกราชทางด้านวัฒนธรรมของชาติจนได้รับความชื่นชมจากคนไทยและคนต่างชาติ อย่างต่อเนื่อง นายอนุศาสน์จึงเริ่มให้การสนับสนุนคณะนักเรียนที่แสดงโขนด้วยการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนโขนปัตตานีและจัดเวทีให้มีการแสดงต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา และเปลี่ยนมาเป็นชมรมเยาวชนโขนชายแดนใต้ ในปี 2565 เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนสามจังหวัดชายแดนใต้ทั้งชาวไทยพุทธ และมุสลิม ได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงโขน จนสามารถพัฒนาฝีมือเรื่อยมาจนได้รับการยอมรับว่าเป็นโขนที่มีคุณภาพสูง

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายโรงเรียน ศิลปินแห่งชาติ และชาวชุนชนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ได้รับเกียรติการฝึกซ้อมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงโขน ซึ่งเป็นคณะทำงานจัดแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านโขนจากวิทยาลัยนาฎศิลป ในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนศิลปินแห่งชาติอีกมากมาย อาทิ นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) พ.ศ. 2554 และอาจารย์ประเมษ บุญยะชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสคง (นาฏศิลป์-โขน) พ.ศ. 2563 เป็นต้น

สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และดูผลงานเด็กๆเยาวชนได้ทาง แฟนเพจเฟซบุ๊ก “โขนเยาวชนชายแดนใต้” https://www.facebook.com/profile.php?id=100087810710529