สธ.จ.ตาก ลงพื้นที่ควบคุม ป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ให้ความรู้ประชาชน เน้นการดูแลตนเอง

สาธารณสุขจังหวัดตาก ลงพื้นที่ควบคุม ป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สร้างความตระหนักรู้และให้คำปรึกษา ประชาชน เน้นการปฏิบัติตัว ดูแลตนเอง แจกเอกสารความรู้ทั้งภาษาไทยและพม่า พร้อมประสานความร่วมมือท้องถิ่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุณกุนยา (Chikungunya fever) ในพื้นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 2 ได้แก่ จังหวัด พิษณุโลก ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ร่วมกับสำนักงานควบคุมและป้องกันโรค จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค รวมถึงประสานสาธารณสุขอำเภอ เทศบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และชุมชน ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลายและไข้เลือดออก และร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า สำหรับสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้ลงพื้นที่ควบคุมโรค ให้ความรู้สร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการกำจัดแหล่งเพาะ พันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นสาเหตุของโรค ให้คำปรึกษาเรื่องไข้ปวดข้อยุงลายและไข้เลือดออก โดยเน้นเรื่องการปฏิบัติตัว ดูแลตนเองหากเกิดอาการป่วย โดยแจกเอกสารแผ่นพับให้ความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า ยาทากันยุง และทรายทีมีฟอสสำหรับใส่ภาชนะที่มีน้ำขัง อาทิ จานรองกระถางต้นไม้ โอ่งใส่น้ำที่ไม่มีฝาปิด รองขาตู้กับข้าว แจกันพลูด่าง นอกจากนี้ได้ประสานหน่วยงานท้องถิ่นในการพ่นสารเคมีกำจัดยุง และร่วมกับชุมชนช่วยกันสำรวจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่เสี่ยง โดยใช้โปรแกรมทันระบาด

จากรายงานสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 23 กรกฎาคม 2562 พบผู้ป่วยสะสม จำนวน 5,201 ราย ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งสูงกว่าในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา สำหรับในเขตสุขภาพที่ 2 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายจำนวน 417 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยจังหวัดตากมีผู้ป่วยมากที่สุดจำนวน 315 คน คิดเป็นร้อยละ 49.84 ของผู้ป่วยทั้งเขตสุขภาพ  อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีไข้สูงฉับพลันคล้ายไข้หวัด ตาแดง มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ในเด็กมักจะมีอาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ใหญ่จะมีอาการปวดข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า โดยจะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ หากรุนแรงอาจขยับข้อไม่ได้ ซึ่งอาการจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจนานกว่านั้น โรคนี้ต้องรักษาตามอาการ จนกว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานมากำจัดโรคได้