NSM ลงนามความร่วมมือกับ คณะออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์และทักษะด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ

26 ตุลาคม 2566 / ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ กับ นายธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อร่วมมือกันสื่อสารและสร้างทัศนคติเชิงบวกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะในการพัฒนาพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์โดยใช้ทักษะด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งให้นักศึกษาได้ออกแบบและใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ ทั้งในด้านการออกแบบพื้นที่ให้มีความน่าสนใจ สนุกสนาน รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และชิ้นงานนิทรรศการของ NSM ร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศต่อไป ณ ห้อง LOUNGE ชั้น G1 อาคาร SPU DSPACE มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า “อพวช. มีภารกิจในการส่งเสริมสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมปลูกฝังและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน และประชาชนในสังคมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ผ่านแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ สำหรับวัตถุประสงค์ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสื่อสารและสร้างทัศนคติเชิงบวกกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะในการพัฒนาพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์โดยใช้ทักษะด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking process) ซึ่งให้นักศึกษาได้ออกแบบและใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ ทั้งในด้านการออกแบบพื้นที่ให้มีความน่าสนใจ สนุกสนาน รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และชิ้นงานนิทรรศการของ NSM ร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ พร้อมสร้างมูลค่าให้กับประเทศ โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันผนึกกำลังความเข้มแข็งของตนเองมาช่วยกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และแบ่งปันให้เกิดขึ้นในสังคมและประเทศต่อไป”

นายธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า “คณะออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีหลักสูตรดำเนินการสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ผลิตบัณฑิตที่มีทักษะทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามมาตราฐานสากลมีความรอบรู้และใฝ่รู้ สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ในการประกอบวิชาชีพ พร้อมส่งเสริมการวิจัยประยุกต์และการเรียนแบบ Area Base Learning เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนจากประสบการณ์จริงในพื้นที่ สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้กับ NSM ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะช่วยผลักดันศักยภาพของนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ที่จะทำให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาได้เกิดประโยชน์ ในการร่วมออกแบบและใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านแหล่งเรียนรู้ของ NSM ต่อไป”