รมว.ธรรมนัส ติดตามการบริหารจัดการน้ำอ่างฯบางเหนียวดำ แหล่งน้ำผลิตประปา เสริมการท่องเที่ยว

Featured Video Play Icon

วันที่ 20 ตุลาคม 2566  ที่อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 และผู้เกี่ยวข้อง รายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กรมชลประทาน ได้สนับสนุนน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาจากอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ บางวาด อ่างฯ บางเหนียวดำ และอ่างฯ คลองกะทะ ซึ่งมีความจุรวมกันประมาณ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพื่อผลิตน้ำประปาในแต่ละปีมีมากถึง 20 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากปริมาณน้ำดังกล่าว ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกกิจกรรมในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากปัจจุบันเป็นการสนับสนุนน้ำเพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาเท่านั้น

กรมชลประทาน ได้วางแผนในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โดยแผนระยะสั้นเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ด้วยการเสริมความสูงของสันอ่างฯ บริเวณทางระบายน้ำล้น (Spill way) เพื่อเพิ่มความจุขึ้นอีก 600,000 ลบ.ม. ส่วนในระยะกลางจะดำเนินโครงการสูบผันน้ำบ้านโคกโตนด-อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ เพื่อสูบน้ำจากลุ่มน้ำคลองถลาง มาเติมในอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำในช่วงฤดูแล้ง

ด้านการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว กรมชลประทาน ร่วมกับ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กำหนดระยะเวลาในการใช้น้ำจากอ่างฯ ทั้ง 3 แห่ง โดยให้โรงผลิตน้ำประปาทั้งหมดใช้น้ำได้ในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนธันวาคม-พฤษภาคม และหยุดการใช้น้ำในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน- พฤศจิกายน โดยให้พิจารณาใช้น้ำจากคลองธรรมชาติ และขุมเหมืองต่าง ๆ ก่อน เพื่อให้มีปริมาณน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลาก กรมชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในพื้นที่ หากมีเหตุการณ์เสี่ยงน้ำท่วม จะประสานไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงทีและลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น