รมว. สุดาวรรณ จับมือ “เหมียว ชิ่งวั่ง” กระชับความสัมพันธ์ ไทย-กว่างซี

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) ให้การต้อนรับ นายเหมียว ชิ่งวั่ง (H.E. MIAO Qingwang) รองประธานเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและเมืองกว่างซี โดยมี นายกิตติ เชาวน์ดี เลขานุการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะทำงาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก

รมว.สุดาวรรณ เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่รองประธานมณฑลกว่างซี พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้ามาพบปะเพื่อหารือแลกเปลี่ยนทัศนะและมุมมองด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพราะมณฑลกว่างซี หรือเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ถือได้ว่าเป็นมณฑลใหญ่ของประเทศจีน ที่มีเมืองสำคัญด้านการท่องเที่ยวมากมาย และมีประชากรจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้อัพเดทสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะกับประเทศจีนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐบาลกำลังมีมาตรการผลักดันให้เกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งการหารือในครั้งนี้ก็เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีระหว่างกัน โดยวันนี้ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ไทย – จีน ได้แก่

1. การส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของการเดินทางท่องเที่ยว และแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ผ่านการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ไทย – จีน

2. การขยายความร่วมมือไทย-จีน โดยการจัดสรรช่วงเวลาเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ และสนามบินหนานหนิง เพื่อเพิ่มเที่ยวบินตรง (Direct Flight) ในเส้นทางหนานหนิง – กรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและจีน รวมทั้งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น

3. การส่งเสริมการเดินทางถ่ายทำภาพยนตร์จีนในไทย ผ่านการประชาสัมพันธ์มาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) ให้กับภาพยนตร์ที่มีการใช้จ่ายในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และการยกเว้นภาษีนักแสดงต่างชาติ

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไทยยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกันในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการนวดแผนไทย และแพทย์แผนจีน ตลอดจนผลักดัน Soft Power อาหารไทยที่ได้รับความนิยมจากชาวจีน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ระหว่างกัน เช่น ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ผัดไทย ผัดกะเพรา

5. ความร่วมมือตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในเรื่องข่าวปลอม (Fake News) ที่เกิดขึ้นระหว่างไทยและจีน เพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์ข่าวสารภาพลักษณ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์และน่าเชื่อถือระหว่างกัน