กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดตัวพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562 เวลา 11.00 น. ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ประตูสู่ความสมานฉันท์ ร่วมใจกันไกล่เกลี่ย” พร้อมรับฟังเวทีเสวนา “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ประตูสู่ความสมานฉันท์ ร่วมใจกันไกล่เกลี่ย” นำโดย พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกวุฒิสภา นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อดีตกรรมาธิการวิสามัญฯ ร้อยตำรวจโท อุทัย อาทิเวช ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และ นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยมี คุณอรอุมา เกษตรพืชผล เป็นผู้ดำเนินรายการ

สืบเนื่องจาก พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ประกาศใช้และลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่ตราขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ใช้เป็นเครื่องมือในการยุติระงับข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนัก และข้อพิพาททางอาญาบางประเภท โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้งลดงบประมาณแผ่นดิน เสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข และส่งเสริมระบบยุติธรรมทางเลือก และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติ​ธรรม​ เนื่องจากข้อพิพาทสามารถยุติได้ด้วยดี แทนการฟ้องร้องคดีต่อศาล สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่เน้นการสร้างหลักประกันในการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 จึงถือเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พนักงานสอบสวน และภาคประชาชน สามารถอำนวยยุติธรรมให้ประชาชนได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร เกิดความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามกฎหมายนี้ จะทำให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัย ข้อพิพาท และให้ข้อตกลงอันเกิดจากความตกลงยินยอมของคู่กรณีมีสภาพบังคับตามกฎหมาย และประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ในชุมชน เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม และเกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป