วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมามอบนโยบายให้แก่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ณ ห้องประชุมธารสิทธิ์พงษ์ โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงชนบท (ทช.) ครบรอบ 21 ปี วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมงาน โดยมี นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลของบุคลากรของ ทช. การจัดงานนิทรรศการวิชาการ (KM) พิธีมอบโล่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการดีเด่น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ ณ กรมทางหลวงชนบท บางเขน กรุงเทพฯ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมระบบคมนาคมขนส่งโครงข่ายทางถนน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ อันจะนำไปสู่ความอุดมสุขของประชาชนในทุกมิติ ควบคู่กับการเพิ่มศักยภาพความปลอดภัยให้ประชาชนมั่นใจในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้ โดยได้สั่งการให้ ทช. เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีในทั่วทุกภูมิภาค การจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงการเตรียมเครื่องจักร อุปกรณ์ ติดตั้งสะพานเบลีย์ ซ่อมแซมผิวทางบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้โดยเร็ว หากเกิดเหตุอุทกภัยบริเวณสายทาง ประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ที่แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146
ในโอกาสนี้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี ของ ทช. พร้อมทั้งกล่าวอวยพรให้กับข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ จากนั้น
ได้เปิดงานนิทรรศการทางวิชาการ (KM) ซึ่ง ทช. ได้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากหน่วยงานในสังกัดของ ทช. ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยมีหัวข้อการจัดนิทรรศการฯ อาทิ โครงการทดลองผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีต
ที่มีส่วนผสมขยะพลาสติก ซึ่งได้มีการนำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมในงานบำรุงถนน เพื่อพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น (Green Transport)” นอกจากนี้
ยังได้มอบนโยบายในการดูแล/บริการประชาชน ในการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก Government Easy Contact Center : GECC ให้สอดรับกับโครงการ “ราชรถยิ้ม” ของกระทรวงคมนาคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งต่อความสุขให้กับประชาชนต่อไป
ปัจจุบัน ทช.มีโครงข่ายในความรับผิดชอบทั่วประเทศ จำนวน 3,450 สายทาง ระยะทางรวม 49,653.785 กิโลเมตร สำหรับปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ทช.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 47,108.9146 ล้านบาท สิ้นปีงบประมาณเบิกจ่ายไปแล้ว จำนวน 42,606.6463 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.44 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 66) ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 ทช.มีโครงการสำคัญที่ดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ เช่น ถนนสาย ข9, ค3 ผังเมืองรวมชุมชนโคกกลอย – ท้ายเหมือง จ.พังงา งบประมาณ 282.821 ล้านบาท, ถนนสาย ง1 ผังเมืองรวมเมืองอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ งบประมาณ 336 ล้านบาท, ถนนสาย นฐ.3061 แยก ทล.375 – ศูนย์ราชการจังหวัดนครปฐม จ.นครปฐม งบประมาณ 440 ล้านบาท, ถนนสาย จ4 และ จ5 ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม งบประมาณ 163.191 ล้านบาท, สะพานข้ามคลองดู อ.ละงู จ.สตูล งบประมาณ 291 ล้านบาท, สะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย ชบ.3022 แยก ทล.315 – บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี งบประมาณ 189.230 ล้านบาท, สะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย ปข.1003 แยก ทล.4 – บ้านโพธิ์เรียง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ งบประมาณ 288.700 ล้านบาท, ขยายถนนทางหลวงชนบทสาย นศ.3053 แยก ทล.408 – เขตเทศบาลระโนด อ.ระโนด จ.สงขลา งบประมาณ 190.219 ล้านบาท, ถนนสายแยก ทล.1009 – บ้านแม่แอบ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ งบประมาณ 85.204 ล้านบาท และถนนสาย สป.1011 แยก ทล.3 – เทพารักษ์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ งบประมาณ 590 ล้านบาท ฯลฯ
ทั้งนี้ ทช. ยังมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 อาทิ โครงการก่อสร้างถนนสาย นย.3007 แยก ทล.305 – บ้านคลอง 33 อ.องครักษ์ จ.นครนายก งบประมาณ 716.350 ล้านบาท,โครงการก่อสร้างถนนสาย พท.4007 แยก ทล.4047 – บ้านทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.สงขลา งบประมาณ 249.100 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล 433.190 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสายแยก
ทล.1020 – บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง, จุน จ.เชียงราย, พะเยา งบประมาณ 1,199 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.3452 – สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี งบประมาณรวมทั้ง 2 ตอน 1,799.999 ล้านบาท และมีโครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 อาทิ โครงการขยายถนนชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี งบประมาณ 902 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างสะพานบนถนนสาย รย.4060 อ.เขาชะเมา, แก่งหางแมว จ.ระยอง, จันทบุรี งบประมาณ 587.516 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี งบประมาณ 1,181 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสาย ฉช.2004 แยก ทล.34 – ทล.314 อ.บางปะกง, เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ตอนที่ 1 งบประมาณ 549.500 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสาย ง2 ผังเมืองรวมเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด งบประมาณ 569.700 ล้านบาท โครงการก่อสร้างถนนสาย ฌ ผังเมืองรวมเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 199.850 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนนสายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน – ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 – ถนนเชื่อม ทล.212 อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม งบประมาณ 949 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ทช. ยังได้รับรางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) ในงานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2565 “Digital Government Awards 2022” จากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. (DGA) รวมถึง ได้รับผลคะแนนการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ซึ่งได้รับผลการประเมิน ร้อยละ 96.59 คะแนน (เพิ่มจากปีก่อน 5.83 คะแนน) เป็นลำดับที่ 2 ของกระทรวงคมนาคม และผลการประเมินภาพรวมระดับกรมหรือเทียบเท่า อยู่ในลำดับที่ 14 จากหน่วยงานทั้งสิ้น จำนวน 159 หน่วยงาน อีกด้วย
อย่างไรก็ตามพวกเราชาวทางหลวงชนบทยังคงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้งานของเรามีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจของประเทศให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป