กรมทางหลวง ขยาย ทล.205 สาย อ.เทพสถิต – อ.บำเหน็จณรงค์ ตอน บ.ช่องสำราญ – บ.คำปิง จ.ชัยภูมิ ระยะทาง 22.7 กม. เป็น 4 ช่องจราจร แล้วเสร็จ

กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 205 สาย อ.เทพสถิต – อ.บำเหน็จณรงค์ ตอน บ.ช่องสำราญ – บ.คำปิง จ.ชัยภูมิ ระยะทาง 22.7 กม. เป็น 4 ช่องจราจร แล้วเสร็จ เพิ่มศักยภาพการคมนาคมและโครงข่ายโลจิสติกส์ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดรับนโยบาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนมีความสุขในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย และการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล

ทางหลวงหมายเลข 205 หรือ ถนนสุรนารายณ์ เป็นทางหลวงเชื่อมต่อระหว่าง จ.ลพบุรี และ จ.นครราชสีมา ที่ประชาชนเลือกใช้เป็นเส้นทางลัดในการขนส่งสินค้าจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังภาคตะวันออกอีกเส้นทางหนึ่ง โดยเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 304 จาก จ.นครราชสีมา ไปยัง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 311 ไปถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น กรมทางหลวงจึงดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 205 สาย อ.เทพสถิต – อ.บำเหน็จณรงค์ ตอน บ.ช่องสำราญ – บ.คำปิง จ.ชัยภูมิ ระหว่าง กม.ที่ 113+250 ถึง กม.ที่ 135+978 รวมระยะทาง 22.7 กม.

โดยทำการก่อสร้างจากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร (ไป – กลับ) เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร แบ่งช่องจราจรทิศทางไปกลับด้วยกำแพงคอนกรีต รวมงานก่อสร้างสะพานจำนวน 7 แห่ง พร้อมทางคู่ขนานความยาว 2.770 กม. และงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดสาย วงเงินงบประมาณ 679.7 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 205 สาย อ.เทพสถิต – อ.บำเหน็จณรงค์ ตอน บ.ช่องสำราญ – บ.คำปิง จ.ชัยภูมิ ช่วง กม.ที่ 135+978 ถึง กม.ที่ 149+630 รวมระยะทาง 13.6 กม. เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร แบ่งช่องจราจรทิศทางไปกลับด้วยกำแพงคอนกรีต และเกาะกลางแบบยก วงเงินงบประมาณ 678.9 ล้านบาท ขณะนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 98.68% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

เมื่อทั้งสองโครงการก่อสร้างตามข้างต้นแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรและลดอุบัติเหตุ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชน สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองและระหว่างเมืองให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ อันเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย