วันที่ 4 ตุลาคม 2566 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในโอกาสเข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการขับเคลื่อนภารกิจด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำ โดยมี นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านปลอดภัย) นายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ) นายนรินทร์ศักย์ สัทธาประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ) พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนัก/กอง และข้าราชการกรมเจ้าท่า ให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย ณ ห้องวิสูตรสาครดิษฐ์ ชั้น 4 อาคาร 162 ปี กรมเจ้าท่า
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภารกิจด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ ท่าเรือ ร่องน้ำทางเดินเรือ การกำกับดูแลการเดินเรือ การส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี การกำกับดูแล ความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ การป้องกันดูแล และปกป้องสภาพแวดล้อมทางน้ำ และการพัฒนากฎหมาย ระเบียบ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงได้มอบนโยบายในการขับเคลื่อนภารกิจด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำของกรมเจ้าท่า 11 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ เช่น การพัฒนาท่าเรือต่างๆ เพื่อสนับสนุนในการท่องเที่ยวทางทะเล การพัฒนาการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจ จำนวน 16 ร่องน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐานแต่ละร่องน้ำ รวมถึงขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งเพื่อการขนส่ง การท่องเที่ยว และการประมง การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญโดยการเสริมทราย เช่น การเสริมทรายชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และ ชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี
2. ด้านการยกระดับความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำ โดยนำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยมาใช้ เช่น ระบบ CCTV และนำ AI มาช่วยในการปฏิบัติงาน
3. ด้านการส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี โดยปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายส่งเสริมพาณิชยนาวี และจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมพาณิชยนาวีให้มีหน้าที่ดูแลกิจการส่งเสริมพาณิชยนาวีโดยเฉพาะ รวมไปถึงส่งเสริมกองเรือไทยและพัฒนามาตรฐานท่าเรือ อู่เรือ เป็นต้น
4. ด้านการส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเรือไฟฟ้า (EV Boat) และก๊าซธรรมชาติในระบบการเดินทางและขนส่งด้วยเรือโดยสาร
5. ด้านการยกระดับการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น IMO, IUU ตลอดจนพัฒนากรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN และ JCCCN เป็นต้น
6. ด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการขนส่งมวลชนสาธารณะทางน้ำ ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่งเสริมการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ล้อ-ราง-เรือ
7. ด้านการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบให้ทันสมัยเป็นมาตรฐานสากล
8. ด้านการขับเคลื่อนสู่องค์กรที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดหลักธรรมาภิบาล รวมถึงพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูง
9. ด้านการยกระดับการให้บริการ ให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เข้าถึงได้และมุ่งแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ สร้างความพึงพอใจและรอยยิ้มให้กับประชาชนผู้รับบริการ
10. ด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการและการให้บริการประชาชน
11. การดำเนินโครงการ “ราชรถยิ้ม” เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับภาคการคมนาคมขนส่งทางน้ำในทุกมิติ
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ กรมเจ้าท่า อาคาร 39 พร้อมรับฟังความเป็นมาและการบรรยายภารกิจ โดยรองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านปลอดภัย) ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเน้นย้ำให้ กรมเจ้าท่า มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน พร้อมริเริ่มโครงการ “ราชรถยิ้ม” คือ บุคลากรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทุกคนจะต้องมีรอยยิ้ม และมีความสุขในการทำงาน เพื่อส่งต่อความสุขให้กับประชาชนและต้องดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล หลักคุณธรรม หลักนิติธรรม โดยเน้นเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้เป็นสำคัญ