กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 กันยายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
1.1 กรมชลประทาน ร่วมกับกองทัพบก ดำเนินการก่อกระสอบทรายกั้นน้ำ บริเววณริมแม่น้ำมูล ชุมชนท่าก่อไผ่ เนื่องจากประตูกั้นน้ำระหว่างแม่น้ำมูลกับคลองน้ำภายในชุมชน ปิดกั้นไม่สนิท ทำให้น้ำจากแม่น้ำมูลไหลทะลักเข้าสู่ภายในชุมชนท่ากอไผ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
1.2 กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณวัดแก้วพิจิตร พระอารามหลวง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 10 นิ้ว เพื่อเฝ้าระวังและสูบน้ำท่วมขังในบริเวณวัด โดยนายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำได้ให้ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานและภารกิจหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานดังกล่าว
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านประเทศไทยตอนบนในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลงส่วนในช่วงวันที่ 3 – 5 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวณเข้าสู่อ่าวไทยตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 27 – 29 กันยายน 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 2 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ในพื้นที่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา อำเภอเมืองฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อชี้แจงข้อมูลรายละเอียดร่างผังน้ำที่ปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะจากการประชุมผังน้ำครั้งที่ผ่านมาให้ผู้เข้าร่วมประชุมผังน้ำ พิจารณาร่างผังน้ำที่ปรับแก้ไข และแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้นำไปสู่ การจัดผังน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อรับฟังข้อมูลความต้องการข้อจำกัดข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างผังน้ำและผลการศึกษาต่างๆจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดทำร่างผังน้ำเป็นการบูรณาการและประสานความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่าพื้นที่เสี่ยงเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมจำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน อุทัยธานี ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มุกดาหาร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ปราจีนบุรี กาญจนบุรี และระนอง