ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตราด (194) จ.ลำปาง (148) จ.ระนอง (139) จ.ปทุมธานี (137) จ.นครราชสีมา (123) และ จ.กาญจนบุรี (59)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 51,923 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,521 ล้าน ลบ.ม. (65%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 21/2566 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี – มูล
จากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี คาดว่าในวันที่ 2 ต.ค. 2566 ระดับน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำ
• สทนช. คุมเข้มการบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูฝน โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เน้นย้ำหน่วยงานเร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ด้วยขณะนี้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ หวังเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนต่างๆ เพื่อรับมือสภาวะเอลนีโญ ซึ่ง สทนช. ได้ประสานงานร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของเขื่อน และคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานต่างๆ เร่งกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้รองรับปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย. 67 และควบคุมการระบายน้ำในทางน้ำต่างๆ ให้มีผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด
• สทนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคอีสาน พร้อมรับมืออุทกภัยปลายฤดูฝน โดยนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันเฉียงเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตาม ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำในบางพื้นที่ของลุ่มน้ำชี-มูล รวมทั้งมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก (เช่น อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำปาว ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ และสิรินธร) จึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำโดยพร่องน้ำลงสู่ด้านท้ายน้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังด้านท้ายน้ำ รวมถึงมวลน้ำไหลหลากมาสมทบบริเวณลุ่มน้ำมูล และปัจจุบันได้มีน้ำท่วมขังจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ บริเวณ อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
• สทนช. เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำชีตอนกลาง 7 จังหวัดภาคอีสาน โดยนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรับสถานการณ์เอลนีโญ พร้อมแนวทางการบริหารน้ำและผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง