สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 กันยายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 กันยายน 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 20/2566 ลงวันที่ 21 กันยายน 2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง ในช่วงวันที่ 25 – 30 กันยายน 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้ 1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด ในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ตจังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช 2. พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม ลำเซบาย จังหวัดยโสธร แม่น้ำลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน และหนองหาร อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเติมน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำ 32 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำกิ่วลม อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำคลองตรอน อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ บึงบอระเพ็ด อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำวชิราลงกรณ อ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำ ลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเดื่อ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำหนองกรองแก้ว อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำบ้านสวนผึ้ง อ่างเก็บน้ำตะเคียนทอง อ่างเก็บน้ำหนองตาตั้ง อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคย อ่างเก็บน้ำบ้านโป่งกระทิง อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม อ่างเก็บน้ำห้วยมงคล และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และทะเลสาบทุ่งกุลา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ และมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ของจังหวัดสุรินทร์ พร้อมแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก พบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง มี 3 ปัญหา คือน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำในบางพื้นที่