สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 ก.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนัก บางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.กาญจนบุรี (91 มม.) กรุงเทพมหานคร (91 มม.) จ.ภูเก็ต (78 มม.) จ.ชลบุรี (67 มม.) จ.ยโสธร (67 มม.) จ.อุทัยธานี (46 มม.)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 51,060 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 45,730 ล้าน ลบ.ม. (64%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มอบน้ำดื่มสะอาดขนาดบรรจุ 5 ลิตร จำนวน 120 แกลลอน ให้แก่เทศบาลตำบลแม่วาง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่บ้านน้ำต้น หมู่ที่ 6 ต.แม่วาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ และมอบน้ำดื่มสะอาดบรรจุขวดขนาด 500 มิลลิลิตร จำนวน 500 ขวด เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ บ้านหมูม่น หมู่ที่ 2 ต.นากว้าง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ที่ประสบภัยน้ำท่วม-น้ำหลาก

กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำ ที่มีความเสี่ยง ฉบับที่ 20/2566 ในช่วงวันที่ 25 – 30 ก.ย. 66
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี สตูล ตรัง พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช
2. พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา ลำน้ำก่ำ ลำเซบาย แม่น้ำลำปาว ลำน้ำยัง แม่น้ำมูลแม่น้ำตรัง แม่น้ำตาปี
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน และหนองหาร อ่างเก็บน้ำลำ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา เน้นกักเก็บสำรองไว้ใช้ อุปโภค-บริโภค
กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 23 ก.ย.66 เวลา 13.00 น. ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,248 ลบ.ม. /วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.7 ม. มีแนวโน้มลดลง ควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 898 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ ได้บริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบอย่างสอดคล้องกัน ด้วยการกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบนให้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค และรักษานิเวศ ส่วนตอนกลางจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการบริหารจัดการน้ำ โดยระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ด้านตอนปลายจะเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน

ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 11 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ให้รับทราบและติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด