ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ราชบุรี (110) จ.ระยอง (97) จ.ลำปาง (88) จ.ปทุมธานี (79) จ.สตูล (60) และ จ.อุบลราชธานี (47)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 50,059 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 44,781 ล้าน ลบ.ม. (63%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินงานโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ ต.ยางน้ำกลัดใต้ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และป้องกันการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ ลดความเสียหายจากภัยพิบัติในอนาคต ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ 650 ไร่ 90 ครัวเรือน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศฉบับที่ 19/2566เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 22-26 ก.ย. 66
ด้วยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่ามีฝนตกหนักและตกสะสมในภาคเหนือ และภาคกลาง คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ จ.นครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 900–1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที และมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณ 90-120 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 990– 1,320 ลบ.ม. ต่อวินาที ดังนั้น จึงมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 700–1,000 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.60 – 0.80 เมตร
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า
2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
3. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ เพื่อลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา