สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 18 กันยายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 18 กันยายน 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2566 ลงวันที่ 15 กันยายน 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 17 – 21 กันยายน 2566 พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเทิง) จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย ฝาง และแม่อาย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน แม่จริม ปัว เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ ทุ่งช้าง ท่าวังผา เวียงสา และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก และหล่มเก่า) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย วังสะพุง และภูหลวง) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอหนองบัวแดง) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี บ้านดุง กุมภวาปี นายูง และหนองหาน) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กุฉินารายณ์ สมเด็จ นามน ดอนจาน สามชัย และคำม่วง) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี) ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ ขลุง โป่งน้ำร้อน และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง แหลมงอบ บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด) และพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ
ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จังหวัดน่าน ลำน้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม ลำเซบาย จังหวัดยโสธร แม่น้ำลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และสภาวิศวกร ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย อาคารและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำ “โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพรุชบา พร้อมระบบกระจายน้ำ บ้านพรุชบา ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา” เพื่อตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและบำรุงรักษาให้มีใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิศวกรรม เพิ่มขีดความสามารถให้วิศวกรรุ่นใหม่ ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมการประชุมความร่วมมือทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 และการประชุมคณะทำงานร่วมพิเศษ ว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำโขง-ล้านช้างและคณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับ ผู้แทนประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ภายใต้ธีมงานการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำเพื่อรับรองความมั่นคงทางน้ำเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นำเสนอผลลัพธ์ของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง และรายงานความก้าวหน้าแลกเปลี่ยนแนวคิด รวมถึงให้นโยบายแนวทางกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง สาขาทรัพยากรน้ำ ระหว่างประเทศสมาชิก ทั้ง 6 ประเทศ ประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย