สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 15 กันยายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 15 กันยายน 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566

1.1 กรมชลประทาน ดำเนินการสูบน้ำ ณ โรงสูบน้ำห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดใหม่ เพื่อเร่งระบายน้ำจากดอยสุเทพ–ปุย ลงสู่แม่น้ำปิง ป้องกันน้ำท่วมเขตตัวเมืองเชียงใหม่จากสถานการณ์ฝน และดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณถนนหาชานนท์ และหน้าหมู่บ้านสินธารา บ้านกอก ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ประชาชนสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งดำเนินการนำเรือกำจัดวัชพืช เข้าปฏิบัติการจัดเก็บวัชพืช บริเวณคลองขุดใหม่ ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำรวมถึงรักษาความสะอาดและลดปัญหาน้ำเน่าเสีย

1.2 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง 7 หน่วยปฏิบัติการ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและป่าไม้ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช พัทลุง และจังหวัดสงขลา รวมทั้งเติมน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำ 12 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่มอก เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ่างเก็บน้ำแม่กองค่าย อ่างเก็บน้ำคลองข้างใน เขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน อ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และอ่างเก็บน้ำประแสร์

2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 14 – 17 ก.ย. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในขณะที่ในช่วงวันที่ 15 – 16 ก.ย.66 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยจะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ FAO -Australia Asia Pacific Water Scarcity Programme ครั้งที่ 1 ภายใต้ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากร ระหว่าง สทนช. ประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 13 – 14 กันยายน 2566 ณ ห้อง L422 ชั้น 4 อาคารอรุณ อินทรปาลิต สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน จ.นนทบุรี โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการฯมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำบัญชีน้ำ (Water Accounting) ในลุ่มน้ำนำร่อง (ลุ่มน้ำป่าสัก) มีผู้เข้าร่วมจำนวน 40 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำป่าสัก และผู้แทนจากสถาบันการศึกษา