กระทรวงวัฒนธรรม รับรางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ปี 2566 จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

วันที่ 13 กันยายน 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เข้ารับมอบรางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ปี 2566 จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการ และประธานคณะทำงานจัดงานมอบรางวัลฯ ผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับรางวัล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อาคาร 2 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยภายในงานมีการฉายวีดิทัศน์แนะนำโครงการฯ การบรรยายพิเศษ เรื่อง “Digital Disruption : ทิศทางการปรับตัวของภาครัฐกับการให้บริหารภาคธุรกิจและประชาชน” โดย ดร.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ กพร. และพิธีมอบรางวัลเพื่อเป็นเกียรติแก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัลทุกหน่วยงาน

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความทุ่มเทการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจได้มีความสะดวกรวดเร็ว ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและลดต้นทุนและเวลาในการติดต่อขออนุญาต และในปี 2564 กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจหรือ Regulatory Guillotine มีการปลดล็อกไปแล้วกว่า 938 กระบวนงานจาก 1,094 กระบวนงาน และมีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงจัดทำรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ประจำปี 2566 ทั้งสิ้น 40 รางวัล ประกอบด้วยระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับกระบวนการ (กอง/สำนัก) และระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการให้กำลังใจ และเชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล

นางยุพา เผยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรม มีรายชื่อเป็น 1 ใน 40 หน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง และ 1 ใน 6 ระดับกระทรวง ที่ได้รับมอบรางวัล “สำเภาทอง-นาวาทอง” ปี 2566 ระดับกระทรวง เป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินการการทำงานเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านประสิทธิภาพกระบวนงาน การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล และการปรับปรุงการให้บริการ อีกทั้งรางวัลดังกล่าวยังได้รับรองอีกว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีความโดดเด่นตามเกณฑ์และมาตรฐานในการประเมินการตัดสินจากภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการใช้บริการ และมีทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำหน้าที่ประเมินวิเคราะห์ ใน 3 มิติสำคัญประกอบด้วย ประสิทธิภาพของกระบวนงาน การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล และสุดท้ายผลสัมฤทธิ์ด้านการให้ลบริการผ่านช่องทางดิจิทัล การอำนวยความสะดวกและการปรับปรุงการให้บริการ ตลอดจนส่งเสริม e-Government ตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ปรับบทบาทเป็น “กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” มุ่งขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม หนุนนำวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับ Soft Power ไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 ด้าน ( 5 F ) ได้แก่

1. อาหาร (Food)

2. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)

3. ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion)

4. มวยไทย (Fighting)

5. การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival)

รวมถึงด้านอื่นๆที่กำลังเป็นที่สนใจในกระแสโลก เช่น สมุนไพร ดนตรี การแสดง ทัศนศิลป์ ฯลฯ และส่งเสริมให้วัฒนธรรมสามารถสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมทั่วประเทศ ตลอดจนชุมชนเจ้าของทุนทางวัฒนธรรม ให้เกิดงานด้านวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยตระหนักว่าในปัจจุบันและอนาคตประเทศจะต้องขับเคลื่อนไปด้วย “เศรษฐกิจดิจิทัล” หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่ม ช่องทางในการขยายธุรกิจรวมถึงการให้บริการประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล สินค้าและบริการได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ประเทศพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างคล่องตัวและทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กระทรวงวัฒนธรรมจึงเน้นด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ การสร้างสรรค์และการจัดการองค์ความรู้ด้านศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรม ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน รวมถึงผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าได้จากทั่วโลก อาทิ สารสนเทศด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ระบบคลังข้อมูลดิจิทัล ที่เกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังต้องการให้ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการนำข้อมูลต่างๆไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ด้วย นำไปสู่การขับเคลื่อน Soft Power “วัฒนธรรมสร้างรายได้” อย่างแท้จริง