กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 11 กันยายน 2566

1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566

วันที่ 9 ก.ย. 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามความก้าวหน้าโครงการแผนพัฒนากว๊านพะเยาณ ลานอนุเสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งกรมชลประทานได้ร่วมพัฒนากว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและบริหารจัดการน้ำ โดยขุดลอกตะกอนดินกว๊านพะเยาเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำในพื้นที่ตอนบน เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและระบบกระจายน้ำ สามารถเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรรอบกว๊านพะเยาจากเดิม 33.84 ล้าน ลบ.ม. เป็น 42.84 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์รวม 31,020 ไร่ นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนงานพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู กว๊านพะเยา รวม 5 ด้านด้วยกัน ทั้งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพื่อให้มีความครอบคลุมในทุกมิติ

2. สภาพอากาศ

ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดงานสัมมนา “Empowering Policy Makers with Spatial intelligence” เปิดตัวนวัตกรรม AIP ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะมาช่วยสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายในทุกระดับเพื่อนำข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์และประมวลผลสำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยงานจัดขึ้น ณ CDC Crystal Grand Ballroom กรุงเทพฯ โดยนวัตกรรม AIP พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา THEOS-2 โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ คือ EEC และจังหวัดน่าน ซึ่ง AIP ไม่ได้เป็นเพียงระบบแสดงข้อมูลแผนที่ แต่เป็น Platform ในการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสนับสนุนผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยปฏิบัติในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ในด้านต่างๆที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการเกษตร ด้านน้ำ ด้านภัยพิบัติ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการเมือง