เปิดที่แรก!! “ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง” ย้อนยุควิถีริมน้ำของชาวอยุธยา 1 ในการยกระดับ 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย

วันที่ 9 กันยายน 2566 นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 “ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง” โดยมีพระพิพัฒนศาสนกิจวิธาน รองเจ้าคณะอำเภอบ้านแพรก เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง อิหม่ามธารี มหาเรือนลาภ อิหม่ามประจำมัสยิดฟารุ๊กอุมาร๊อบนุลคอตต๊อบอัลกอดีรียะห์ นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 17 จังหวัด ในพื้นที่ภาคกลาง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชนฯ ผู้ขับเคลื่อนตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรม เยี่ยมชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT/CCPOT) และเยี่ยมชมตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง

รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน มุ่งยกระดับตลาดน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยในปี 2566 นี้ วธ. ได้ดำเนินโครงการคัดเลือก 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย คัดเลือกตลาดน้ำที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านสถานที่และชุมชน พร้อมร่วมมือร่วมใจพัฒนายกระดับตลาดน้ำ จำนวน 6 แห่ง ซึ่งนับว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือก เป็น 1 ใน 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และขอขอบคุณหน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วน ที่ให้ความสำคัญและผลักดัน ในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในพื้นที่ จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขอชื่นชมและขอขอบคุณท่านผู้นำ ผู้ขับเคลื่อนตลาดน้ำ และชาวตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง ที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจ ในการขับเคลื่อนตลาดน้ำจนประสบผลสำเร็จ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง มีผู้นำและเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ชุมชนมีทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นตลาดน้ำที่ล้ำค่า มีสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่หลากหลายน่าสนใจ คนในชุมชนมีความรัก สามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามประกาศกระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกตลาดบกและตลาดน้ำส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีตลาดบกและตลาดน้ำที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดบก 10 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดเก่าหัวตะเข้ กรุงเทพมหานคร 2.ตลาดคลองบางหลวง กรุงเทพมหานคร 3.ตลาดจีนชากแง้ว จังหวัดชลบุรี 4.ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ 5.ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน จังหวัดน่าน 6.ตลาดสู้ศึกคึกคัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 7.ตลาดเชียงคาน เมืองสีสัน วัฒนธรรมริมโขง จังหวัดเลย 8.ตลาดริมน้ำคลองแดน (ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน) จังหวัดสงขลา 9.ตลาดตรอกโรงยา (ถนนสั้น ตำนานยาว) จังหวัดอุทัยธานี 10.ตลาดเขมราษฎร์ธานี จังหวัดอุบลราชธานี ด้านตลาดน้ำ 6 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2.ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว จังหวัดเพชรบุรี 3.ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จังหวัดราชบุรี 4.ตลาดน้ำคลองแห จังหวัดสงขลา 5.ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ 6.ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยจะดำเนินการจัดพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2566 นี้ เพื่อยกระดับให้รู้จักในวงกว้าง เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ผ่านตลาดบกและตลาดน้ำ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ตลาดน้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่งคั่งยั่งยืนให้แก่ชุมชนและประเทศชาติ พร้อมทั้งเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ปลูกฝังให้แก่เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม นำไปสู่การอนุรักษ์สืบสาน โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม

พระพิพัฒนศาสนกิจวิธาน เจ้าคณะอำเภอบ้านแพรก เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง กล่าวว่า ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง เปิดบริการเมื่อปี พ.ศ. 2552 จากการริเริ่มของอาตมาภาพ ร่วมกับชาวบ้าน ก่อตั้งตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้องขึ้น เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตของชาวอยุธยาริมน้ำในอดีตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ การจัดกิจกรรมเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย จึงถือเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดน้ำและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยปลูกฝังให้แก่เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม นำไปสู่การอนุรักษ์สืบสานและการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้แก่ชุมชน

“ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง” เปิดบริการมามากกว่า 13 ปี จนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดท่าการ้อง ติดแม่น้ำเจ้าพระยา บริหารจัดการโดยวัดท่าการ้อง เพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีพื้นที่จำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ และอาหารในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือน ได้สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตย้อนยุคริมน้ำของชาวอยุธยาในอดีต โดยจัดรูปแบบตลาดเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 พื้นที่ของวัดเป็นตลาดบก จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ของกิน ของใช้ ของฝากของที่ระลึกครบครัน มีที่นั่งพัก นั่งรับประทานอาหาร ที่สำคัญมีเวทีสำหรับการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม สืบสานการแสดงลิเก (เวทีใหญ่) และเวทีเล็ก สำหรับการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ดนตรี เพื่อสร้างความสุข ความเพลิดเพลิน ให้นักท่องเที่ยวที่ได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ในวันหยุด ณ ตลาดแห่งนี้ และส่วนที่ 2 ลักษณะเป็นแพถาวร ตลาดน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จำหน่ายอาหารประเภทปรุงสดบนเรือที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา มีที่นั่งสำหรับพักผ่อนให้อาหารปลา ชมปลาว่ายในแม่น้ำ ที่นั่งสำหรับรับประทานอาหาร และท่าขึ้นลงเรือเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ นอกจากนี้ยังมีอาหารแนะนำที่ห้ามพลาด เช่น ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวกะลา ปลาต้มเค็ม ขนมเบื้องญวน หอยทอด ทอดมัน หมูสะเต๊ะ เมี่ยงคำ ยำแหนม ข้าวคลุกกะปิ และปลาหมึกนึ่งมะนาว เปิดบริการในวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 – 16.00 น.