จากกรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเล ประมาณ 60,000 ลิตร ระหว่างเรือ KALLISTA (IMO 9411965) สัญชาติ ปานามา ทำการขนถ่ายสินค้า CRUDE OIL บริเวณทุ่น SBM 2 ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ณ บริเวณทะเลอ่าวไทย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 เวลา 20.00 น. โดยภายหลังเกิดเหตุ นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ร่วมกับนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาชลบุรี ร่วมกับ บริษัท ไทยออยล์จำกัด (มหาชน) เข้าควบคุมสถานการณ์บริเวณที่เกิดเหตุทันที โดยทำการ ปิดวาล์วท่อน้ำมันที่เกิดปัญหาและวางทุ่นล้อมคราบน้ำมัน เพื่อป้องกันและจำกัดการแพร่กระจาย ทำให้ขณะนี้ไม่มีน้ำมันรั่วไหล
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า ในฐานะศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (ศูนย์ประสานงานฯ) ภายใต้คณะกรรมการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนชาติ ได้เข้าพื้นที่ปฏิบัติงานขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ร่วมวางแผนการดำเนินการภายใต้ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (ศูนย์ควบคุมฯ) โดยบูรณาการเรือและกำลังเจ้าหน้าที่ อาทิ เรือขจัดคราบน้ำมันชลธารานุรักษ์ เรือตรวจการณ์เจ้าท่า 804 เรือตรวจการณ์เจ้าท่า 264 เรือหลวงตาชัย เรือหลวงแสมสาร เรือ ต.235 เรือจากภาคเอกชน โดยมีเรือร่วมปฏิบัติการฯ ทั้งหมดจำนวน 23 ลำ และใช้สารขจัดคราบน้ำมัน (Dispersant) จำนวน 8,000 ลิตร นอกจากนี้ กรมเจ้าท่า ได้ติดตามและเฝ้าระวังโดยศูนย์ควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางทะเล และบูรณาการเรือเฝ้าระวังบริเวณที่เกิดเหตุสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรี จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจระวังคราบน้ำมันบริเวณหาดวอนนภา หาดบางแสน หาดบางพระ ท่าเทียบเรือเกาะลอย และบริเวณอ่างศิลา พร้อมจัดฝึกอบรมกำลังพลหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ในการปฏิบัติเก็บคราบน้ำมันและการใช้อุปกรณ์ทุ่นกักน้ำมัน (บูม) ร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัท ไทยออยล์ฯ เพื่อเตรียมความพร้อม หากพบคราบน้ำมันบริเวณชายหาด พร้อมกันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ไทยออยล์ ได้ดำเนินการสูบน้ำมันออกจากท่อฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดทั้ง 3 วัน ได้สำรวจทางทะเลและชายฝั่ง ยังไม่พบคราบน้ำมันแต่อย่างใด ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน จึงมีมติให้ยุติการปฏิบัติการฯ เนื่องจากไม่มีการตรวจพบคราบน้ำมัน เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน
รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ กรมเจ้าท่าในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ประสานงานการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน จะเป็นหน่วยงานหลักในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน อาศัยอำนาจตามข้อ 10(5) และ (8) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 13 ของแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟู สภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันมีการกำหนดหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาสในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย เช่น จังหวัดชลบุรี บริษัท ไทยออยล์จำกัด (มหาชน) ตลอดจนติดตามผลการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย การฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมต่อไป
รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวปิดท้ายว่า ความสำเร็จในการปฏิบัติงานขจัดคราบน้ำมันในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่บูรณาการการทำงาน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน บนพื้นฐานการปฏิบัติตามแผนชาติ และแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ได้ช่วยกันสร้างการรับรู้ ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ให้กับสาธารณชน พร้อมนี้ กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาขีดความสามารถในการขจัดคราบน้ำมัน และดำเนินการฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อม สร้างทักษะและความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยให้เกิดประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการปฏิบัติการฯ พร้อมเพิ่มมาตรการในการกำกับดูแลภาคเอกชนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อปกป้องท้องทะเลไทยให้มีความปลอดภัย ไร้มลพิษทางน้ำ พร้อมรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ให้คงอยู่คู่ประชาชนชาวไทย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป