พาณิชย์ติวเข้มผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม FTA อาเซียน – ฮ่องกง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกงจัดสัมมนาเรื่อง “ASEAN – Hong Kong FTA โอกาสทางการค้าเพื่อเปิดตลาดสู่แดนมังกร”ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 โดยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมและชี้โอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง

งานสัมมนาของกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยทั้งที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วกับฮ่องกงและที่สนใจจะทำธุรกิจและเข้าไปลงทุนในฮ่องกง โดยในงานสัมมนามีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจกับฮ่องกง โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน อาทิ นาย Willy Lin ประธานสมาคม Hong Kong Productivity Council ดร.ชัยชาญ เจริญศักดิ์ เลขาธิการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และนาย Alex Ngผู้อำนวยการบริหารสายงานธุรกิจรับส่งพัสดุ บริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

นางอรมนฯ กล่าวว่า ฮ่องกงเป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญของไทย มีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าและการลงทุนไปสู่ตลาดใหญ่อย่างจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าสินค้าบริการ และการลงทุน ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและฮ่องกงได้ลงนามแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ได้ โดยในการเปิดเสรีระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง แบ่งการเปิดตลาดสินค้าได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าที่ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใน 3 ปี นับจากปี 2562 (6,364 รายการ เช่น ทองคำวงจรพิมพ์ ยางสังเคราะห์) สินค้าที่ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใน 10 ปี (1,750 รายการ เช่น พลาสติก เสื้อผ้า)สินค้าที่ลดภาษีเหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 12 ปี (435 รายการ เช่น รองเท้า ผลิตภัณฑ์แผ่นรีดทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เจือ รถบรรทุก) สินค้าที่ลดภาษีเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 ภายใน 14 ปี (650 รายการ เช่นน้ำผลไม้/น้ำผักสำหรับเด็ก รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล ลวดและเคเบิล) และสินค้าที่ไม่ลดภาษี (359 รายการ เช่น กระดาษ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า กระเทียม) ขณะที่ฮ่องกงผูกพันทุกรายการสินค้าที่ร้อยละ 0 ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจและแน่นอนในการทำการค้าของผู้ประกอบการไทยและอาเซียน เพราะฮ่องกงจะไม่สามารถขึ้นภาษีเกินร้อยละ 0 กับอาเซียนได้

ในส่วนของการเปิดตลาดเสรีการค้าบริการและการลงทุนไทยอนุญาตให้ผู้ให้บริการของฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทย จำนวน 74 สาขาย่อย เช่น สาขาบริการให้คำปรึกษาในการร่างเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ไม่รวมกฎหมายในประเทศ) สาขาบริการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และวีดีทัศน์สาขาบริการวีดีโอเท็กซ์ และสาขาบริการให้เช่าวงจร เป็นต้น ขณะที่ฮ่องกงอนุญาตให้ผู้ให้บริการของไทยเข้ามาลงทุนในฮ่องกงได้ จำนวน 77 สาขาย่อย โดยให้ไทยถือหุ้นร้อยละ 100 แบบไม่มีเงื่อนไขในสาขาบริการด้านการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ นับว่าเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขาบริการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์จะเข้าไปลงทุนธุรกิจบริการดังกล่าวในฮ่องกง

ในด้านการลงทุน ความตกลงครอบคลุมทั้งเรื่องการคุ้มครองการลงทุนและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนให้กับนักลงทุนของอาเซียนและฮ่องกง อาทิ คุ้มครองนักลงทุนหลังจากที่ได้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับนักลงทุนในประเทศ กระบวนการยื่นขออนุมัติการลงทุนที่สะดวกขึ้น และการส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง เป็นต้น

นางอรมนฯ เสริมว่า ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับจากความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ในส่วนของการค้าสินค้านั้น นอกจากฮ่องกงจะไม่สามารถขึ้นภาษีสินค้าที่ส่งออกจากอาเซียนได้แล้ว การลดภาษีสินค้ายังเป็นการสนับสนุนโอกาสทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น รวมทั้งความตกลงมีกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่รัดกุมทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่มีความกังวลในประเด็นการสวมสิทธิ์ของสินค้าจากประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ การเปิดตลาดการค้าบริการจะช่วยยกมาตรฐานภาคบริการของไทยโดยการเคลื่อนย้ายผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกงมาไทย อาทิด้านกฎหมายและด้านการเงิน ขณะที่นักลงทุนไทยสามารถสามารถถือหุ้นได้ร้อยละ 100 ในสาขาบริการด้านสื่อโสตทัศน์ที่ไทยเรียกร้อง  ซึ่งไทยอาจพิจารณาลงทุนตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการจัดจำหน่ายทั้งภาพยนตร์ วีดิทัศน์ วิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงการร่วมมือกับฮ่องกงในด้านธุรกิจภาพยนตร์และละครเพื่อมุ่งไปสู่ตลาดใหญ่อย่างจีนได้ สำหรับการลงทุน ความตกลงจะช่วยขจัดอุปสรรคการลงทุนระหว่างไทยและฮ่องกงเพื่อให้นักลงทุนทั้งสองฝ่ายมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม นอกจากนี้ นักลงทุนไทยจะได้รับความสะดวกทางด้านการเข้าถึงข้อมูลและกฏระเบียบในกรณีเข้าไปลงทุนในฮ่องกง ขณะเดียวกันความสะดวกดังกล่าวยังกระตุ้นให้นักธุรกิจฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่ง ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และบริการธุรกิจ ที่ฮ่องกงมีศักยภาพ

ปัจจุบัน ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย ในปี 2560 โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกง 15.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 16.42 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปฮ่องกง ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าเม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สินค้านำเข้าจากฮ่องกง ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์อัญมณีและเครื่องประดับ และผ้าผืน การลงทุนปี 2560 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เป็นอันดับที่ 8 จำนวน 41 โครงการคิดเป็นมูลค่า 7.16พันล้านบาท