สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ก.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ลำปาง (127) จ.ระนอง (121) จ.ลพบุรี (110) จ.มุกดาหาร (109) จ. จันทบุรี (84) จ.กาญจนบุรี (74)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,465 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,956 ล้าน ลบ.ม. (56%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 17/2566 ในช่วงวันที่ 5-10 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ มุกดาหาร นครพนม และนครราชสีมา ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จ.อุทัยธานี และกาญจนบุรี ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ระนอง และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จ.น่าน

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำน้ำดื่มสะอาดบรรจุขวด ขนาด 1,500 มล. จำนวน 2,000 ขวด เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ในพื้นที่ ต.ปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี ที่ประสบภัยน้ำท่วม-น้ำหลาก

กอนช. ลงพื้นที่ จ.นครสววรค์ เพิ่มน้ำต้นทุนบึงบอระเพ็ด 
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมของเครื่องมือเครื่องจักรตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน 2566 รวมทั้ง 3 มาตรการรับมือเอลนีโญเพิ่มเติม ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์

สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยและมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติและคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 49 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ10) น้อยกว่าปี 65 และมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวคือ บึงบอระเพ็ด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 9.4 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 4) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักต่ำสุด ทั้งนี้ต้องควบคุมระดับน้ำเพื่อรักษาพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่า 3 ล้าน ลบ.ม. จากการประเมินสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบันการเพิ่มน้ำต้นทุนดำเนินการโดยสถานีสูบน้ำทับกฤชของกรมทรัพยากรน้ำ โดยมีการจัดทำข้อตกลง 4 ข้อ ระหว่างกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ด ได้แก่ 1.งดสูบน้ำจากบึงบอระเพ็ดและลำคลองสาขาเพื่อไปทำนา ยกเว้นแปลงนาที่อยู่ระหว่างเพาะปลูกไปแล้ว 2.สูบน้ำเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (บ่อปลา) ได้ แต่ต้องดูแลคุณภาพน้ำทิ้งจากบ่อปลา 3.ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้และต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และ 4.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำผ่านผู้นำท้องถิ่นและให้ชาวบ้านช่วยสอดส่องดูแลรักษาระเบียบตามข้อตกลงข้างต้น

จากการวิเคราะห์คาดการณ์ฝนล่วงหน้าเดือนกันยายน-ตุลาคม 66 ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติอยู่ในช่วงร้อยละ 3-10 ทำให้โอกาสที่จะมีปริมาณน้ำที่เกิดจากน้ำฝนไหลเข้าบึงบอระเพ็ดมีปริมาณไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนให้มากที่สุด