สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 ก.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตราด (127) จ.ระนอง (105) จ.นครสวรรค์ (93) จ.ลพบุรี (85) จ.เลย (79) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (49)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,945 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,519 ล้าน ลบ.ม. (55%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.-3 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม หนองบัวลำภู และกาฬสินธุ์ ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำยัง บริเวณอ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และ แม่น้ำสงคราม บริเวณ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ถึง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

กอนช. ติดตาม การถอดบทเรียนฤดูแล้ง ภายใต้สภาวะเอลนีโญ

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ 8 กระทรวง 31 หน่วยงาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/2566 พร้อมทั้งเปิดรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้งปีถัดไป ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง สทนช. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ภายใต้กรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ช่วงก่อนฤดูแล้ง เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยการคาดการณ์ปริมาณน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อกำหนดแผนการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืช การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมทั้งประกาศพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวังและหากเกิดภัย สามารถช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้ง กำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือเชิงป้องกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ 2) ระหว่างฤดูแล้ง จะเป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมิน พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ จะดำเนินการตลอดช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์และการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และ 3) เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้ง จะมีการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เพื่อใช้สำหรับเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาในฤดูแล้งปีถัดไป

จากการคาดการณ์พบว่าสภาวะเอลนีโญจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกน้อย รวมถึงฝนทิ้งช่วง โดยปัจจุบันภาพรวมปริมาณฝนทั่วประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งทำให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้อย และมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยในช่วงฤดูฝนปีนี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด