สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ส.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.แพร่ (105) จ.เลย (88) จ.จันทบุรี (84) จ.ปทุมธานี (61) จ.ระนอง (61) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (48)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,896 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,479 ล้าน ลบ.ม. (55%)

กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.-3 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม หนองบัวลำภู และกาฬสินธุ์ ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำยัง บริเวณ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และ แม่น้ำสงคราม บริเวณ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ถึง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

กรมเจ้าท่า ดำเนินการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา – แม่น้ำป่าสัก หน้าวัดพนัญเชิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อย อ่าววัดช้างน้อย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงบึงหาดกองสิน อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท คิดเป็นผลงานสะสม รวม 595,696 ตัน คิดเป็นผลงานร้อยละ 90.53 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานได้ภายในเดือนกันยายน 2566

กอนช.ผนึกกำลัง 20 หน่วยงานขับเคลื่อน 3 มาตรการฝ่าวิกฤตเอลนีโญ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ เพิ่มเติมจาก 12 มาตรการเดิม เพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น ดังนี้
มาตรการที่ 1 การจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำของลุ่มน้ำ โดยให้กรรมการลุ่มน้ำร่วมกันจัดลำดับความสำคัญให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ซึ่งเสร็จไปแล้ว 10 ลุ่มน้ำ เหลือ 12 ลุ่มน้ำจะเร่งรัดให้แล้วภายใต้ต้นเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยให้ความสำคัญกับการให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศ เป็นลำดับแรกๆ
มาตรการที่ 2 ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเพื่อควบคุมไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางการส่งเสริมอาชีพทางเลือกเพิ่มเติม
• มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำโดยในภาคการเกษตรจะส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่

กอนช. จะติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ