กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2566 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 3 กันยายน 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอกัลยาณิวัฒนา จอมทอง และอมก๋อย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ขุนยวม และสบเมย) จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอเมืองกำแพงเพชร โกสัมพีนคร ขาณุวรลักษบุรี คลองลาน ไทรงาม พรานกระต่าย และลานกระบือ) จังหวัดตาก (อำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง พบพระ แม่ระมาด แม่สอด วังเจ้า และอุ้มผาง) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย เนินมะปราง และบางระกำ) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอนาแห้ว ผาขาว ภูเรือ และวังสะพุง) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร และบ้านแท่น) จังหวัดขอนแก่น (อำเภอชุมแพ ภูเวียง เวียงเก่า สีชมพู หนองนาคำ และหนองเรือ) จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง วานรนิวาส และอากาศอำนวย) จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอกันทรวิชัย) จังหวัดหนองบัวลำภู (อำเภอเมืองหนองบัวลำภู นากลาง นาวัง และศรีบุญเรือง) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอยางตลาด) ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม และแหลมสิงห์) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง คลองใหญ่ บ่อไร่ และแหลมงอบ) ภาคใต้ จังหวัดชุมพร (อำเภอท่าแซะ และพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)
2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอก พัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินเรือ การระบายน้ำ การอุปโภคบริโภค และเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อใช้ ในภาคการเกษตร ต.หนองรี อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ซึ่งผลที่ได้จากการขุดลอกในครั้งนี้ จะช่วยบำรุงรักษาร่องน้ำธรรมชาติให้กลับมาคืนสภาพช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ลดความรุนแรงของกระแสน้ำในช่วงฤดูฝน โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ100 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 200 ไร่
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดฝนเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญว่า การประชุมครั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. มากกว่า 20 หน่วยงานร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก กอนช. เรียบร้อยแล้วจาก 12 มาตรการเดิม เพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบจากปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนน้อยเช่นกัน โดยที่ประชุมได้หารือร่วมกัน ในรายละเอียดแนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อน 3 มาตรการให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำของลุ่มน้ำ มาตรการที่ 2 ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และมาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ทั้งนี้ กอนช. จะติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ