สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 ส.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ (110) จ.พังงา (55) จ.ตราด (55) จ.แพร่ (48) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (48) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (9)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,880 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,473 ล้าน ลบ.ม. (55%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่บริเวณปากคลองผันน้ำเชื่อมอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำและป้องกันปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ EEC โดยเร่งผันน้ำจากอ่างฯ คลองใหญ่ ไปเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯ หนองปลาไหล ปัจจุบัน (28 ส.ค.66) มีการผันน้ำไปแล้ว 5.60 ล้าน ลบ.ม. เมื่อรวมกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 97.30 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของความจุอ่างฯ

กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.-3 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม หนองบัวลำภู และกาฬสินธุ์ ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำยัง บริเวณอ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และ แม่น้ำสงคราม บริเวณอ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ถึง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

สทนช. ขับเคลื่อนโครงการเพื่อสนับสนุนภารกิจของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำผิวดินทั้งประเทศ

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมพิจารณาเลือกพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำแบบอัตโนมัติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 66

ด้วยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) (GISTDA) ดำเนินโครงการการวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณน้ำจากดาวเทียม THEOS-2 และกลุ่มดาวเทียมรายละเอียดปานกลาง โดยนำข้อมูลจากดาวเทียมมาวิเคราะห์ ติดตาม ตรวจสอบ และจัดทำเป็นฐานข้อมูลในลักษณะเชิงพื้นที่ (geo-spatial) เพื่อสนับสนุนภารกิจของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำผิวดินทั้งประเทศ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำแบบอัตโนมัติ เพื่อใช้เป็นตัวแทนในพื้นที่ลุ่มน้ำสำหรับตรวจสอบกับปริมาตรน้ำที่วิเคราะห์ได้จากข้อมูลดาวเทียม เพื่อให้สามารถจัดทำระบบฐานข้อมูลให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สทนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเพื่อให้การดำเนินงานโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ