ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (86) จ.ยะลา (70) จ.ตราด (66) จ.แพร่ (48) จ.หนองบัวลำภู (35) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (10)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,883 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,472 ล้าน ลบ.ม. (55%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.-3 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม หนองบัวลำภู และกาฬสินธุ์ ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำยัง บริเวณอ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และ แม่น้ำสงคราม บริเวณอ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ถึง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
กอนช. ติดตามหน่วยงานวางแผนการบริหารจัดการน้ำ รับมือเอลนีโญอย่างต่อเนื่อง
ด้วยสถานการณ์เอลนีโญยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กอนช. ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกัน วางแผน และเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่ที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนน้อย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ตามนโยบาย กอนช.
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ (วันที่ 26 ส.ค. 66) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 41,954 ล้าน ลบ.ม. หรือ 55% ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้18,014 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย และจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศ คาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 22,825 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูแล้งมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะใน 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งหรือข้าวนาปรัง ปี 2566/67 ได้ กอนช. จึงขอความร่วมมือเกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง
ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปีในปี 2566 นี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ โดยกรมชลประทานได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งปี 2566/67 ที่กำลังจะมาถึงนี้