สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2566 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 3 กันยายน 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอกัลยาณิวัฒนา จอมทอง และอมก๋อย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ขุนยวม และสบเมย) จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอเมืองกำแพงเพชร โกสัมพีนคร ขาณุวรลักษบุรี คลองลาน ไทรงาม พรานกระต่าย และลานกระบือ) จังหวัดตาก (อำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง พบพระ แม่ระมาด แม่สอด วังเจ้า และอุ้มผาง) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย เนินมะปราง และบางระกำ) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอนาแห้ว ผาขาว ภูเรือ และวังสะพุง) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร และบ้านแท่น) จังหวัดขอนแก่น (อำเภอชุมแพ ภูเวียง เวียงเก่า สีชมพู หนองนาคำ และหนองเรือ) จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง วานรนิวาส และอากาศอำนวย) จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอกันทรวิชัย) จังหวัดหนองบัวลำภู (อำเภอเมืองหนองบัวลำภู นากลาง นาวัง และศรีบุญเรือง) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอยางตลาด) ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม และแหลมสิงห์) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง คลองใหญ่ บ่อไร่ และแหลมงอบ) ภาคใต้ จังหวัดชุมพร (อำเภอท่าแซะ และพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)

2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจข้อมูลอุทกวิทยาและสำรวจบำรุงรักษาสถานีอุทกวิทยา ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดร้อยเอ็ด สำหรับการเตรียมความพร้อมเครื่องมือให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคม 2566 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดการอบรมภายใต้โครงการ รู้รักษ์ความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2 ในหัวข้อรู้เท่าทันและรับมือการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถ่ายทอดองค์ความรู้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและการใช้ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติผ่านแอปพลิชัน ThaiWater ให้กับครูและอาจารย์ จำนวน 24 ท่าน โดยจะขยายผลต่อไปยังเยาวชน นักเรียนจำนวนมากกว่า 1,200 ราย ภายใต้ 12 โรงเรียน ในสังกัดพื้นที่จังหวัดปทุมธานี