รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 15/2566 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ในช่วงวันที่ 20 – 25 สิงหาคม 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย ขุนตาล และแม่สรวย) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอฝาง และแม่อาย) จังหวัดน่าน (อำเภอนาหมื่น และเวียงสา) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า) จังหวัดนครพนม (อำเภอ ท่าอุเทน และศรีสงคราม) จังหวัดสกลนคร (อำเภอพรรณานิคม สว่างแดนดิน และอากาศอำนวย) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอบ้านดุง) จังหวัดอำนาจเจริญ (อำเภอเมืองอำนาจเจริญ และหัวตะพาน) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขื่องใน) ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แก่งหางแมว และขลุง) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่ คลองใหญ่ และเกาะช้าง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ทับปุด และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล และละงู) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน และวังวิเศษ) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม และบ้านตาขุน)

2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วยปฏิบัติการ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 9 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท และลพบุรี สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว และอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สทนช. ลงพื้นที่เสี่ยงแล้ง ณ ตำบลนครเดิฐ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานอยู่ในช่วงการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ได้แก่ นาข้าว พืชไร่ และพืชสวน ในขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหลักอาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้น้ำภาคการเกษตรได้ถึงเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดว่าในช่วงระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือนต่อจากนี้หากไม่มีปริมาณฝนตกเพียงพอในพื้นที่ ข้าวซึ่งครบเวลาเก็บเกี่ยวมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ โดยในเบื้องต้นได้มีการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ บริเวณหนองปลิง ซึ่งจะเพียงพอต่อการเพาะปลูกในระยะปัจจุบัน และได้มีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญในระยะยาวต่อไป