ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.สกลนคร (100) จ.ตราด (77) จ.น่าน (67) จ.นราธิวาส (64) จ.เพชรบุรี (63) กรุงเทพมหานคร (49)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,070 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,375 ล้าน ลบ.ม. (55%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคและการเกษตรอย่างเต็มศักยภาพ บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง บริเวณ จ.นครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี สะพานบางขนาก และหน้าเขื่อนบางปะกง รวมปริมาณการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมดประมาณ 83,600 ตัน
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 15/2566 ในช่วงวันที่ 20-25 ส.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี
กอนช. ติดตามการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 นายชนพหล ส่งเสริม รองผู้ว่าราชการ จ.บึงกาฬ เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยมี นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมของโครงการฯ และแผนการแก้ไขปัญหา พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและตอบข้อซักถาม รวมทั้งข้อเสนอแนะ ณ รร.เดอะวัน อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ
สำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม จะนำไปประกอบการพิจารณาผลการศึกษาฯ ให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ และครบถ้วนในทุกมิติด้านน้ำของจังหวัด เพื่อให้แผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ สามารถใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดบึงกาฬให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างแท้จริง ภายใต้การบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่ถึงระดับตำบล เพื่อเป็นแผนหลักในการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ที่มีความยั่งยืน ทั้งมิติด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลดความเสียหายจากปัญหาและภัยที่เกิดจากน้ำ อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค การพัฒนาคุณภาพน้ำ การอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการที่เหมาะสมในอนาคตต่อไปป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสี่ยง การขาดแคลนน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญในระยะยาวต่อไป