กรมอนามัย ชู เขตสุขภาพที่ 9 พื้นที่ต้นแบบดูแลสูงวัย พัฒนารูปแบบส่งเสริมสุขภาพดี ตลอดช่วงชีวิต

กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา จัดประชุมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “อนามัย สูงวัย ใจทำดี เขตสุขภาพที่ 9” ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนงานชมรมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน มุ่งเป้าให้ความสำคัญดูแลผู้สูงอายุ 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ (pre-aging) กลุ่มผู้สูงอายุ (aging) และผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง (preventive)

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “อนามัย สูงวัย  ใจทำดี เขตสุขภาพที่ 9” ณ โคราชฮอลล์ 1 ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา จังหวัดนครราชสีมา ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุจาก 7.5 ล้านคน ในปี 2553 เพิ่มเป็น 9.7 ล้านคน ในปี 2557 และคาดว่าในปี 2583 หรืออีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน ส่งผลให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 41 โรคเบาหวานร้อยละ 10 และโรคข้อเข่าเสื่อม ร้อยละ 9 อีกทั้งยังพบว่าผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสุขภาพร้อยละ 56.7 การส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและชะลอชราไม่ให้เสื่อมสภาพการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ จึงเป็นกระบวนการจัดการปัญหาที่จะเกิดขึ้นโดยตรงกับผู้สูงอายุเอง เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงและเข้าใจปัญหาสุขภาพ สามารถตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ และสามารถบอกต่อการจัดการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพแก่บุคคลอื่นได้ ก็จะทำให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีสุขภาพดีได้ตลอดช่วงชีวิต ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เครือข่ายศูนย์วิชาการในเขตสุขภาพที่ 9 และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด “อนามัย สูงวัย ใจทำดี เขตสุขภาพที่ 9” ที่จะร่วมกันดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนงานชมรมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน

ทางด้าน นายแพทย์วีรพล  กิตติพิบูลย์  ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ได้พัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุที่ครอบคลุม ตั้งแต่สุขภาพดีจนถึงระยะเจ็บป่วยตั้งแต่กลุ่มติดเตียง ติดบ้าน และติดสังคม ครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ  ด้วยกิจกรรมต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ตั้งแต่วัยเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ (pre-aging) คือ กลุ่มอายุ 45-59 ปี ประกอบด้วยกิจกรรม 7 ภารกิจพิชิตพุง การตรวจคัดกรองสุขภาพเคลื่อนที่ ส่วนผู้สูงอายุ (aging) กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ดำเนินกิจกรรม Anamai Aging Activities : ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย เป็นการพัฒนารูปแบบส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในโรงพยาบาลและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้และป้องกันปัญหา 4 ประเภท ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ หกล้ม สมองเสื่อม ซึมเศร้า และภาวะโภชนาการจากปัญหาช่องปากและฟันจำนวน 10 รุ่น และ 12 สัปดาห์สู่สุขภาพดี และสำหรับผู้สูงอายุ (preventive) กลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ติดเตียง ติดบ้านนั้น เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) ดำเนินการด้วยการผลิตผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver)  ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 11,092 คน เพื่อฟื้นฟูให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ให้กลับมา เป็นกลุ่มติดสังคมต่อไป

ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา