สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 ส.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.บึงกาฬ (156) จ.ภูเก็ต (99) จ.เชียงราย (68) จ.นครนายก (50) จ.กาญจนบุรี (32) และ กรุงเทพมหานคร (27)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,681 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,973 ล้าน ลบ.ม. (54%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการพัฒนาบ่อน้ำบาดาล ให้กับประชาชน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น 220 ครัวเรือน 521 คน พื้นที่ บ.ปากทางเขี่อน ม.1 ต.วังมั่น อ.สามเงา จ.ตาก

กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 14/2566 ในช่วงวันที่ 12-18 ส.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ จ.เชียงราย
เชียงใหม่ ตาก และน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล และตรัง

กอนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำEEC ฝ่าวิกฤตเอลนีโญ เร่งแก้ปัญหาเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน/มั่นใจมีเพียงพอ

กอนช. คุมเข้มการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่EEC รับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยวางแผนรับมือภาวะขาดแคลนน้ำที่อาจจะขึ้นนั้น ใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกที่มีอยู่ ร่วมกับมาตรการอื่นๆ อาทิ กรมชลประทานและบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จะสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต จากแม่น้ำบางปะกง มาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โดยได้วางแผนตั้งเป้าหมายสูบผันน้ำรวมประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม./ปี และสูบผันน้ำจากคลองสะพานมาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และใช้เป็นศูนย์กลาง ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่อีอีซีโดยวางแผนจะสูบผันน้ำจากคลองสะพานรวม 50 ล้าน ลบ.ม.

กอนช.ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยให้กรมชลประทานวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด
จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์และวางแผนการใช้น้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเสริม ชะลอการขุดลอกอ่างเก็บน้ำพื้นที่โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก พร้อมทั้งให้เร่งรัดโครงการของภาครัฐ รวมทั้งให้ประสานภาคเอกชนที่บริหารจัดการน้ำทั้ง 2 รายให้มีการหารือเชิงพาณิชย์ร่วมกันในบางจุด เช่น แหลมฉบัง บ่อวิน ปลวกแดง เป็นต้น

ทั้งนี้ กอนช.จะติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นพร้อมทั้งได้ทำหนังสือแจ้งส่วนราชการและภาคเอกชน ให้รับรู้และปฏิบัติตามมาตรการแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบไว้อย่างเคร่งครัด