สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 14/2566 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 12 – 18 สิงหาคม 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน แม่สาย และแม่ฟ้าหลวง) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่สอด แม่ระมาด และอุ้มผาง) จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) โดยเฉพาะจังหวัดน่านซึ่งปัจจุบันมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา และอำเภอแม่จริม ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า เซกา ศรีวิไล พรเจริญ โซ่พิสัย และบึงโขงหลง) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม ท่าอุเทน ศรีสงคราม บ้านแพง นาทม และโพนสวรรค์) จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง และอากาศอำนวย) ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ และท่าใหม่) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ บ่อไร่ แหลมงอบเขาสมิง เกาะกูด และเกาะช้าง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดสตูล (อำเภอละงู) จังหวัดตรัง (อำเภอกันตัง สิเกา และปะเหลียน)

2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566

2.1 กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอก พัฒนา และบำรุงรักษาร่องน้ำทางเรือเดิน เพื่อความสะดวกและปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินเรือ การระบายน้ำ การอุปโภคบริโภค เพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตร และลดความรุ่นแรงของกระแสน้ำในช่วงฤดูฝนโดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 100 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 200 ไร่

2.2 กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการสำรวจอุทกวิทยาโขงเจียม ส่วนอุทกวิทยา เดินทางไปราชการเพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำและตะกอนแม่น้ำโขง ตามแผนปฏิบัติงานและข้อตกลงร่วม MRCS โดยใช้เครื่องมือวัดระดับกระแสน้ำ แบบ PROPELLE TYPE และเครื่องตักตะกอน ขนาดใหญ่ US-D 96 ที่สถานีโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

2.3 กองทัพบก จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 6 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ เรือท้องแบน จำนวน 1 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ เข้าให้การช่วยเหลือเกษตรกร ต.กองนาง ขนย้ายพืชผลทางการเกษตรขึ้นที่สูง เนื่องจากแม่น้ำโขงเอ่อล้น เข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรเป็นบริเวณกว้างประมาณ 3 พันไร่ ซึ่งเป็นผลกระทบจากฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ณ บ.ปากมาง ม.3 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย