กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
1.1 กองทัพบก ดำเนินการเจาะบ่อน้ำตื้นให้กับ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ่ ณ บ.ปรักมะหว้า ม.8 (บ่อ 2) ต.พรานกระต่าย อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร
1.2 กรุงเทพมหานคร ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพในคลองผดุงกรุงเกษม คลองมหานาค คองบางลำพูคลองโอ่งอ่าง สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในคลองผดุงกรุงเกษมนั้น จะทำการเปิดประตูน้ำที่สถานีสูบน้ำเทเวศร์ เพื่อรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีการไหลเวียนถ่ายเท (flushing) โดยไประบายออกบริเวณสถานีสูบน้ำกรุงเกษม ซึ่งอยู่ปลายอีกด้านหนึ่งของคลองผดุงกรุงเกษม รวมถึงยังสามารถบริหารน้ำให้ไหลเวียนผ่านคลองมหานาคเข้าสู่คลองแสนแสบ โดยใช้อาคารรับน้ำแสนเลิศของอุโมงค์ระบายน้ำใต้บึงมักกะสันเพื่อช่วยในการบังคับทิศทางน้ำเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอีกด้วย
2. สภาพอากาศและการคาดการณ์
ในช่วงวันที่ 4 – 6 สิงหาคม 2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร รวมทั้ง พายุโซนร้อนกำลังแรง “ขนุน” (KHANUN) บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวันมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 8-9 ส.ค. 66
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแนวททางการแบ่งปันน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 66/67 ณ จังหวัดจันทบุรี พร้อมร่วมกันพิจารณา วิเคราะห์แนวทางและหลักเกณฑ์การแบ่งปันจากแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง (โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 (มาตรการที่ 7) และแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 66/67 ของลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพในภาพรวมของลุ่มน้ำ และให้มีแนวทางการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานราชการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง