สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก จ.บึงกาฬ (108) จ.ระนอง (95) จ.ลำปาง (53) จ.ตราด (29) จ.กาญจนบุรี (28) จ.พระนครศรีอยุธยา (19)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,806 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,227 ล้าน ลบ.ม. (51%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 12/2566 ในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 ดังนี้
ภาคเหนือ จ.ตาก และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

กอนช. จับตาสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิด กำชับทุกหน่วยพร้อมรับมือทั้งท่วม-แล้ง ภายใต้สภาวะเอลนีโญ
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กอนช. ว่า อิทธิพลของพายุตาลิม ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในประเทศไทย 640 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังคงเป็นปริมาณน้ำต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และปริมาณฝนสะสมในภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังต่ำกว่าค่าปกติ 19%

ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาฝนตกน้อย ขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ที่น่ากังวลมากที่สุด ได้แก่ พื้นที่ภาคกลาง ในขณะที่บางพื้นที่มีฝนตกมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในบางแห่ง

กอนช. ได้ติดตามแผนที่อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องความกดอากาศหรือร่องความกดอากาศต่ำที่จะมีอิทธิพลช่วยทำให้เกิดฝนตกในประเทศไทย ปัจจุบันขยับขึ้นไปอยู่บริเวณเหนือประเทศไทย จากลักษณะดังกล่าว คาดว่าในช่วงวันที่ 26-28 ก.ค. 66 จะมีปริมาณฝนตกน้อยลงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ฝนจะเริ่มกลับมาตกมากขึ้นในช่วงวันที่ 29-31 ก.ค. 66 ซึ่ง กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวัง พร้อมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์แล้ว

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ได้คาดการณ์ว่า ยังมีโอกาสที่จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยได้ 1-2 ลูก ซึ่ง กอนช. ยังคงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 อย่างเคร่งครัด ทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ต่าง ๆ เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดผักตบชวา รวมถึงสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ