สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงหนักบริเวณ จ.สกลนคร (79) จ.พะเยา (77) จ.จันทบุรี (74) จ.ชุมพร (65) จ.สิงห์บุรี (41) จ.กาญจนบุรี (3)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,655 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,034 ล้าน ลบ.ม. (50%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรมทรัพยากรน้ำ เข้าดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง พร้อมท่อส่งน้ำยาว 250 เมตร สูบน้ำจากลำเซบก ไปเติมให้กับแหล่งน้ำผลิตระบบประปาหนองต้นโพธิ์ ณ บ้านหนองแก้ว หมู่ที่ 1 และ 5 ต.หนองแก้ว อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 18 – 25 ก.ค. 66 โดยมีประชาชนได้รับประโยชน์ 2 หมู่บ้าน 1,866 หลังคาเรือน 812 คน

กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 12/2566 ในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 ดังนี้
ภาคเหนือ จ.ตาก และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

สทนช. จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 9 ลุ่มน้ำ ภาคกลาง
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในบทบาทหน้าที่ของกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ในพื้นที่ 9 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ และเจ้าหน้าที่ สทนช. เข้าร่วมประชุม โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิและฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 9 ลุ่มน้ำ ร่วมกันแสดงความคิดเห็น พัฒนากระบวนการ เทคนิคการดำเนินงาน และกลไกการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วม พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎหมายลำดับรอง รวมไปถึงทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างเครือข่ายกรรมการลุ่มน้ำที่มาจากภาคส่วนต่างๆ อีกด้วย

กรรมการลุ่มน้ำเป็นกลไกในระดับพื้นที่ ที่ช่วยผลักดันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม สทนช. จะเร่งสรุปผลรวบรวมประเด็นการนำเสนอทั้งหมดเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โดยเร็วต่อไป