สทนช.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในบทบาทหน้าที่ของกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิครอบคลุม 9 ลุ่มน้ำ ร่วมกันขับเคลื่อนและเสริมความเข้มแข็งของคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันในทุกลุ่มน้ำของประเทศ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในบทบาทหน้าที่ของกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 2 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 9 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ และเจ้าหน้าที่ สทนช. เข้าร่วมประชุม
โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิและฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 9 ลุ่มน้ำ ร่วมกันแสดงความคิดเห็น พัฒนากระบวนการ เทคนิคการดำเนินงาน และกลไกการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วม พร้อมทั้งนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎหมายลำดับรอง รวมไปถึงทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างเครือข่ายกรรมการลุ่มน้ำที่มาจากภาคส่วนต่างๆ อีกด้วย
“กรรมการลุ่มน้ำถือเป็นกลไกในระดับพื้นที่ ที่ช่วยผลักดันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้มีศักยภาพ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการบริการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ซึ่งมีหลากหลายประเด็นสำคัญที่มีการนำเสนอ อาทิ การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำ การพิจารณาองค์ประกอบคณะกรรมการลุ่มน้ำ การจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านทรัพยากรน้ำ การติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ การผลักดันการมีส่วนร่วมของกรรมการผู้แทนภาคส่วนต่างๆ การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำ
การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานด้านต่างๆ สนับสนุนเทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ และการจัดทำคู่มือองค์ความรู้ต่างๆให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่ง ในประเด็นที่เสนอมาบางส่วน สทนช. ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว และจะเร่งสรุปผลรวบรวมประเด็นการนำเสนอทั้งหมดเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โดยเร็วต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การประชุมในวันนี้จึงมีความสำคัญที่ สทนช.ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นแนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 9 ลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ พื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญ และพื้นที่เมืองหลวงแหล่งเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันในทุกลุ่มน้ำของประเทศ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญร่วมขับเคลื่อนภารกิจ พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ