รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กองทัพบก ร่วมกับส่วนราชการ ผู้นำชุมชน เยาวชนอาสาพัฒนา และประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ (แบบผสมผสาน) จำนวน 10 ฝาย ณ แหล่งน้ำธรรมชาติของหมู่บ้านขาแหย่งพัฒนา ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อชะลอการไหลของน้ำในห้วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภคห้วงฤดูแล้ง

2. สภาพอากาศ
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบน

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สทนช. ได้ดำเนินการจัดประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 1 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ จำนวน 3 เวที ระหว่างวันที่ 19 – 21 กรกฎาคม 2566 ร่วมกับระบบออนไลน์ โดยเวทีที่ 1 จังหวัดเชียงราย เวทีที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ และเวทีที่ 3 จังหวัดพะเยา มีผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ครอบคลุมหน่วยงานราชการจากส่วนกลาง หน่วยงานในระดับจังหวัด/อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ สื่อมวลชน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ และประชาชนที่สนใจ รวมทั้งสิ้น 468 คน โดยผู้เข้าร่วมประชุม ได้มีข้อเสนอแนะและให้ความคิดเห็นปัญหาในพื้นที่ เช่น เสนอแนะให้มีการจัดทำผังน้ำระดับนานาชาติ/ระดับประเทศ หน่วยงานท้องถิ่นได้ให้ข้อมูล เกี่ยวสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ (สะพาน ฝาย และประตูระบายน้ำ) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมของเศษขยะ และเป็นอุปสรรคในการไหลของน้ำ เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เสนอให้มีแผนบริหารจัดการน้ำ ให้ข้อมูลจุดที่เกิดปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณที่ลำน้ำหลายสายมาบรรจบกัน อีกทั้งมีสิ่งกีดขวางลำน้ำและขยะอุดตัน ทำให้น้ำท่วมบริเวณดังกล่าว และหน่วยงานภาคการศึกษาให้ความสนใจนำข้อมูลจากโครงการฯไปใช้ในการศึกษาวิจัย เป็นต้น ทั้งนี้ สทนช. จะนำข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมประชุมไปปรับปรุงร่างผังน้ำให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป