กรมการแพทย์แผนไทยฯ อบรมแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ เพื่อขยายผลการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ด้วยการแพทย์แผนไทย

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อบรมแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพผู้ป่วยระยะประคับประคอง ด้วยการแพทย์แผนไทย แบบบูรณาการ ตามหลัก “ธรรมานามัย” แบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านจิตสังคม ด้านจิตวิญญาณ และ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลผู้ป่วย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ผู้ป่วยระยะประคับประคอง Palliative care ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยจากกลุ่มโรค ต่างๆ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองฯลฯ ที่มีอาการเจ็บปวดขึ้นเรื่อยๆหรือแม้แต่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยระยะนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรยึดหลักให้ผู้ป่วยมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยคำนึงถึงความต้องการทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านจิตสังคม ด้านจิตวิญญาณ และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งการดูแล ผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ดี ควรเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคควบคู่ไปกับการบำบัดรักษาอื่นๆ

การดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบบูรณาการด้วยการแพทย์แผนไทยตามหลัก “ธรรมานามัย” เป็นการดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านจิตสังคม ด้านจิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยการดูแลสุขภาพ 3 องค์ประกอบ ดังนี้

1. กายานามัย (Healthy body) เป็นการดูแลสุขภาพด้านร่างกายให้แข็งแรง เริ่มตั้งแต่อาหาร ยา และ การออกกำลังกาย การให้ยาสมุนไพรในการรักษา ควรให้ยาตามอาการ ตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย อาหาร การรักษาโรคทางแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญ กับ “อาหาร” ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น พืช ผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง อาหารที่ช่วยให้ย่อยง่าย นอกจากนี้ ยังพบว่า การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ รวมถึง การออกกำลังกายด้วยฤๅษีดัดตน หรือ การออกกำลังกายอื่นๆ ตามความเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆดีขึ้น ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของผู้ป่วย

2. จิตตานามัย (Healthy mind) คือ การดูแลจิตใจและความรู้สึกของผู้ป่วย การแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญในด้านจิตใจของผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอาการเจ็บป่วย โดยยึดคำว่า“จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” โดยได้แนะนำกิจกรรมบำบัดต่างๆที่มีประโยชน์ทางด้านจิตใจ ได้แก่ สมาธิบำบัด, สวดมนต์บำบัด, ศิลปะบำบัด, ดนตรีบำบัด,หัวเราะบำบัด ซึ่งกิจกรรมข้างต้นจะช่วยให้จิตใจสงบ ปราศจากความเครียด ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

3. ชีวิตานามัย (Healthy behavior) เป็นการดูแลด้านการดำเนินชีวิตในทางที่ชอบ สุจริตตามบริบทของสังคม วัฒนธรรม ประเพณี เช่น การประกอบอาชีพที่ดี และ การปรับสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น การปลูกต้นไม้ ดูแลความสะอาดของบ้านเรือน และจัดวางวัสดุอุปกรณ์ต่างๆให้เหมาะสม มีอาหารสะอาด ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้ความสำคัญเรื่องอาหารที่ไม่สมควรบริโภค คือ อาหารบูดเน่า อาหารดิบ รวมถึง อาหารที่ก่อให้เกิดโรค เช่น การตกค้างหรือปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ ของหมักดอง และ อาหารที่ปรุงไม่ได้มาตรฐานต่างๆ ซึ่งผู้ดูแล หรือ ญาติควรดูแลตามสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวนั้นๆ ที่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ดูแล ส่วนมากญาติจะจัดให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อคนที่ตนรัก หากทำได้ดังนี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น

ด้าน นายสมศักดิ์ กรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ทางสถาบันการแพทย์แผนไทย ได้นำศาสตร์แผนไทยมารักษาในคลินิก ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะประเภท คือ คลินิกดูแลคุณแม่หลังคลอด คลินิกรักษาโรคสะเก็ดเงิน คลินิกรักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ คลินิกรักษาผู้ติดยาเสพติด และ คลินิกดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ดังนั้น แพทย์แผนไทยและสหวิชาชีพจึงต้องมีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มโรคอาการ

ปัจจุบัน การรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง มีความซับซ้อนทางการรักษา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงจัดการอบรมฟื้นฟูการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง ด้วยการแพทย์แผนไทยแบบบูรณาการ ให้กับแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ เพื่อให้นำองค์ความรู้ที่ได้ ไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยร่วมกับสหวิชาชีพ และ สามารถสนับสนุนการสร้างแนวทางการดูแลสุขภาพอย่างไร้ร้อยต่อด้วยการแพทย์แผนไทยให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อการพัฒนา และขับเคลื่อนงานในสถานบริการสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ยั่งยืน

หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM