วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ วงค์วิริยะ นายช่างชลประทานปฏิบัติงาน ร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ ครั้งที่ 2 ระดับประเทศ ภายใต้โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เชียงใหม่ – ลำพูน และเพื่อเยี่ยมชมพื้นที่ ที่เป็นเมืองเก่า ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นแหล่งน้ำแห่งใหม่ให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้ใช้ประโยชน์ และกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17 – 18 กรกฎาคม 2566 โดยให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมโครงการดังกล่าว ณ เหมืองลี้มีรัก ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
สำหรับกิจกรรมโครงการนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนช.) มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดทําแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ กำหนดพื้นที่เฉพาะ หรือ Area Based ทั้งหมด 66 พื้นที่ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และกำหนดให้มีการจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็น ระบบในระดับลุ่มน้ำ และพื้นที่วิกฤตทุกพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เป็น 1 ใน 66 พื้นที่ ประสบปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงได้ลงพื้นที่ศึกษา เพื่อวิเคราะห์แผนแม่บททั้ง 5 ด้าน เชิงลึก รวมถึงทบทวนพื้นที่ Area Based ให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม มีความยั่งยืนทั้งมิติ วิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วม ของประชาชนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ ดร.สุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ สนับสนุนกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมถึงการส่งเสริม การพัฒนา การถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านชลประทานให้คำปรึกษา แนะนำ ข้อเสนอแนะเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่มากที่สุด