สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ระนอง (126) จ.ลำปาง (82) จ.มุกดาหาร (64) จ.กาญจนบุรี (54) จ.ตราด (27) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (14)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,317 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,869 ล้าน ลบ.ม. (50%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก (เพิ่มเติมจากฉบับที่ 9/2566) ในช่วงวันที่ 18-21 ก.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ภาคกลาง บริเวณ จ.กาญจนบุรี และสระบุรี ภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และตราด

กอนช. เร่งหน่วยงานเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) และร่องมรสุมกำลังแรง

ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาพายุโซนร้อนกำลังแรง “ตาลิม” (TALIM) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนและกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทางเหนือเล็กน้อย โดยพายุนี้มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น และเคลื่อนผ่านชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ และประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 66 โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน พายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ประกอบกับในช่วงวันที่ 18-20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ทั้งนี้ กอนช. เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำหลาก และบูรณาการความพร้อมในด้านต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า และสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

โดยกรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มม. ในช่วงเวลา24 ชั่วโมง และกำหนดจุดเสี่ยงพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอาคารชลประทาน และตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ รวมถึงกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ