วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. สำนักงานชลประทานที่ 7 โดย นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 มอบหมายให้ นายฐิฏิภัทร ฐิฏิภัทรสกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม พร้อมด้วย หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเรือ ร่วมกับ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกอก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก ผู้นำชุมชน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหาในพื้นที่ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนในอนาคต
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเรือ อยู่ในลุ่มน้ำย่อยของลำน้ำชีตอนล่าง ลำน้ำมีความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 11 ตำบลของอำเภอเขื่องใน รวมประมาณ 46 หมู่บ้าน 8,969 ครัวเรือน ซึ่งจากสภาพปัญหาปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเรือ พบว่า ในช่วงฤดูฝน พื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาด้านอุทกภัย ตลอดจนช่วงฤดูแล้ง มีปริมาณน้ำเก็บกักไม่เพียงพอต่อความต้องการด้านการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
ในการนี้ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม ได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเรือ ภายใต้ “โครงการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยเรืออย่างยั่งยืน” โดยมี พระสำเร็จ ธีรธัมโม (พระอาจารย์ไก่) จากศูนย์ประสานงานสามัคคีธรรม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาลุ่มน้ำดังกล่าว ซึ่งได้วางแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเรือ ได้แก่ การก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ พร้อมอาคารประกอบ จำนวน 8 แห่ง การพัฒนาแก้มลิง จำนวน 4 แห่ง การก่อสร้างระบบส่งน้ำ จำนวน 1 แห่ง
หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาปัญหาด้านอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 2,800 ไร่ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ควบคู่กับการสืบสานเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
หลังจากนั้น ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี (NBT UBON) เพื่อบันทึกเทปจัดทำสกู๊ปข่าวประชาสัมพันธ์ รายการ “อีสานเช้านี้” ออกอากาศทางช่อง 11 เวลา 09.00 – 10.00 น. เกี่ยวกับ “แนวทางการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเรือ กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยเรืออย่างยั่งยืน” เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป ณ พื้นที่ตำบลบ้านกอก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี