SATI15 ลุยอมตะซิตี้ เปิดโลกซินโครตรอนให้ภาคอุตสาหกรรม

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำคณะนักวิทยาศาสตร์เยือนอมตะซิตี้ จัดการอบรมซินโครตรอนแก่ภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ชูเทคนิคเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมแนะนำเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ระดับพลังงาน 3GeV ที่จะตั้งอยู่ภายใน EECi

ชลบุรี – รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้จัดการอบรมซินโครตรอน เทคโนโลยีแสงขั้นสูง มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม ครั้งที่ 15 (The 15th Synchrotron, Advanced Technology for Industry: SATI15) ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมนิกโก้ อมตะซิตี้ อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เครื่องมืออุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการนำเสนอทั้งในด้านภาพรวมการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง งานนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน”

“การอบรมครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการพบปะกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ และหน่วยงานจากภาคเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนวิจัยและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ได้แนะนำเทคนิคซินโครตรอนต่างๆ อาทิ เทคนิคเอกซเรย์โทโมกราฟี การวิเคราะห์โครงสร้างนาโนด้วยแสงซินโครตรอน การประยุกต์ใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์กับวัสดุศาสตร์ การวิเคราะห์วัสดุด้วยเทคนิคสเปกโตรสโกปีการปลดปล่อยโฟโตอิเล็กตรอน รวมถึงการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในอาหารและการเกษตร” รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ กล่าว

ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง “เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนได้อย่างไร” โดยตัวแทนภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ได้แก่ นายจุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บารามีซี่ จำกัด นายชูชีพ อภิรักษ์ ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ดร.วันเฉลิม รุ่งสว่าง นักวิจัย บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด และ ดร.ธนชัย สิงหเพชรรัตน์ นักวิจัย บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ รองผู้อำนวยการ พัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ยังได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน 3GeV ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ที่สร้างขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) พร้อมทั้งมีกิจกรรมคลีนิคเทคโนโลยีโดยนักวิทยาศาสตร์สถาบันฯ ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคแสงซินโครตรอนแก่คลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย