ก.แรงงาน จัดสัมมนาพัฒนากำลังคนในพื้นที่ EEC

วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ณ ห้อง Mayfair Ballroom A โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านแรงงานเพื่อตอบสนองการพัฒนาพื้นที่ EEC “การขาดแคลนแรงงานและประเภทแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC: ปัจจุบันและอนาคต” เพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ EEC

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรม และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนของรัฐบาล การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น พื้นที่ EEC มีการลงทุนของรัฐบาลในโครงการเมกะโปรเจ็คมากมาย ทั้งการขยายโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน ท่าเรือ สาธารณูโภค และที่พักอาศัย คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในพื้นที่จะขยายตัวตามไปด้วย ทำให้ตลาดมีความต้องการกำลังแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก โดยกระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และอาสาสมัครแรงงานประจำตำบล ลงพื้นที่สอบถามความต้องการแรงงานในตลาด ตำแหน่งงาน และสาขาที่ต้องการให้พัฒนาทักษะฝีมือ ทำให้ทราบว่าในปี 2561 สถานประกอบกิจการมีความต้องแรงงานจำนวน 29,813 คน ในสาขาอาชีพกลุ่ม10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ภาคบริการ เช่น บริการทางธุรกิจ บริการสื่อสารโทรคมนาคม บริการก่อสร้างและวิศวกรรม เป็นต้น ขณะนี้มีสถานประกอบกิจการในพื้นที่ ดังนี้ ฉะเชิงเทรา 486 แห่ง ชลบุรี 1,208 แห่ง และระยอง 474 แห่ง รวมทั้งหมด 2,168 แห่ง

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อการพัฒนากำลังแรงงานเพียงพอต่อความต้องการ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้านช่างเทคนิค ช่างปฏิบัติการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ และส่งเสริมให้กำลังแรงงานมีการปรับตัวที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนาขึ้น โดยมีการบรรยาย เรื่อง ทิศทางความต้องการแรงงานรองรับแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การเสวนา เรื่อง การขาดแคลนแรงงานและประเภทแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC โดยตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีการเชิญตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบกิจการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมสัมมนา รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ

“การสัมมนาในครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนการจัดหาและพัฒนาทักษะฝีมือตามความต้องแรงงานในพื้นที่ EEC และทราบความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน และบรูณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม และให้กรมจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดฝึกอบรมและหางานที่ตรงกับความต้องการของตลาด มุ่งเน้นไปที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และภาคบริการในพื้นที่ EEC ต่อไป” รมว. แรงงาน กล่าว