กรมโยธาธิการและผังเมือง Kick Off โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี Kick Off โครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) พื้นที่ต้นแบบ “โครงการจัดการน้ำชุมชนบ้านวังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี” นำโดย พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ และ นายบดินทร์ เกษมศานติ์ และ นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ประกอบด้วย ส่วนราชการ ผู้นำศาสนา สถานศึกษา ภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคม และสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรม

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง พัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน โดยจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ทั่วประเทศ เน้นย้ำให้มีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติให้กับประชาชน ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือ ของภาครัฐและภาคเอกชน ในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map)

โครงการจัดการน้ำชุมชนบ้านวังอ้อ เป็น 1 โครงการ 1 พื้นที่ต้นแบบ ของโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ของอำเภอเขื่องใน และของจังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ประมาณ 30 ไร่ โดยในโครงการประกอบด้วยการสร้างแก้มลิง (หลุมขนมครกตามรอยพ่อ) 3 แห่ง พื้นที่กักเก็บน้ำประมาณ 5,700 ลูกบาศก์เมตร ขุดคลองไส้ไก่ ปากคลองกว้าง 4 เมตร ลึก 3 เมตร ยาว 400 เมตร ดำเนินการโดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยไม่ใช้งบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ คลังยาและคลังอาหารของชุมชนบ้านวังอ้อ 234 ครัวเรือน และเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการศึกษาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ

โอกาสนี้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันปลูกหญ้าแฝก 100,000 ต้น ต้นยางนา ต้นไผ่ 2,000 ต้น และปล่อยปลา 2,000 ตัว เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ภายใต้แนวคิด “อาหาร ก่อกำเนิด เกิดจากดิน” (Soils, where food begins)