สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2566 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 8 – 11 ก.ค. 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอโขงเจียมและสิรินธร) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร และหว้านใหญ่) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม และธาตุพนม) ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง (อำเภอนิคมพัฒนา เขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่และเมืองตราด) และภาคใต้ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตรัง(อำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ ย่านตาขาว เมืองตรัง และห้วยยอด) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา) จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และกะปง) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)

2. สภาพอากาศ
ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก และมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

3. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
3.1 กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืช บริเวณ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ
3.2 กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวง ตำบลหนองบัวเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดตาก เพื่อตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เก็บข้อมูลใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง และบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวงให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิศวกรรม เพิ่มขีดความสามารถวิศกรรุ่นใหม่

4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเชียงของ) และจังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)